a อนิเมะ

8 ข้อแนะนำวิธีเดินเที่ยวงานการ์ตูนที่ญี่ปุ่นให้สนุก

8 ข้อแนะนำวิธีเดินเที่ยวงานการ์ตูนที่ญี่ปุ่นให้สนุก

By , Wednesday, 26 April 2017

​สวัสดีครับ ผม Ken Pichakun เดือนที่ผ่านมา (25 มีนาคม) ผมได้มีโอกาสบินไปโตเกียวเพื่อร่วมเข้าชมงาน Anime Japan 2017 ที่จัดใน Tokyo Big Sight แม้ผมจะเคยไปงานการ์ตูนมาหลายแห่งที่จัดในประเทศไทย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มางานการ์ตูนถึงถิ่นกำเนิดของวัฒนธรรมอนิเม นั่นทำให้ผมได้รู้ว่างานที่ญี่ปุ่นจัดได้เป็นระเบียบ หรูหราอลังการ และยิ่งใหญ่มากๆ ถึงขนาดเดินแค่วันเดียวอาจจะยังไม่ถึงใจเลยด้วยซ้ำ จนผมกล้าบอกได้เลยว่า ถ้าคุณผู้อ่านอยู่สายอนิเมเหมือนผม ก็น่าจะมีโอกาสได้มาเที่ยวอากิฮาบาระและมางานการ์ตูนที่ประเทศญี่ปุ่นสักครั้งจริงๆครับ แล้วจะฟินไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน 


เหมือนฝันที่เป็นจริง ได้มาเที่ยวงานการ์ตูนถึงถิ่นต้นกำเนิด


สำหรับบทความนี้ผมจะแชร์ประสบการณ์เป็นไกด์ไลน์ให้คุณผู้อ่านทราบว่า ถ้าคุณผู้อ่านมีแผนจะเดินทางไปเที่ยวชมงานการ์ตูนที่ใดสักงาน ไม่ว่าจะงาน Anime Japan หรืองาน Comiket คุณผู้อ่านจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เพื่อจะได้เที่ยวให้สนุกโดยไม่ทำให้อารมณ์สะดุดครับ



1. รู้ว่าจะไปทำอะไรในงาน

ถ้าเราจะไปงานการ์ตูน ไม่ว่าจะงานอะไรก็ตาม สิ่งแรกคือเราต้องรู้ตัวเองก่อนว่า เราจะไปงานนั้นเพื่ออะไร เช่น ไปเพราะอยากตามเพื่อน/แฟนไปดูเฉยๆ ไปเพื่อซื้อของพรีเมียมที่มีเฉพาะในงาน ไปเพื่อ Meet & Greet ไอดอล ฯลฯ ถ้ารู้แล้วเราจะจัดลำดับความสำคัญได้ว่าบูทจุดไหนควรไปดูก่อน บูทไหนมีเวลาค่อยไปดูครับ

เหตุผลที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะงานการ์ตูนที่จัดใน Tokyo Big Sight นั้นมันใหญ่มาก ราวๆ อิมแพ็ค เมืองทองธานีบ้านเราเลย ถ้าคุณผู้อ่านกะไปเดินเล่นขำๆ อาจจะไม่ค่อยอินสักเท่าไหร่ เหมือนไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติโดยไม่มีเป้าหมายว่าจะไปซื้ออะไร ประมาณนั้นครับ

สำหรับผม ผมเลือกไปงาน Anime Japan เพราะผมวางแผนเที่ยวอากิฮาบาระช่วงวันที่ 24-28 มีนาคม (เที่ยวกับเพื่อนๆ คอเดียวกันครับ ฮา) ซึ่งบังเอิญว่า Anime Japan จัดช่วงวันที่ 23-26 มีนาคมพอดี งานนี้ก็เลยอยู่ในแผนทริปนี้ด้วย และเนื่องจากในงานมีบูทของเกมมือถือ Fate / Grand Order เกมโปรดของผม รองลงมาคืออนิเม Attack On Titan Season 2 ที่ผมรอคอย ผมจึงตั้งเป้าไว้ว่าผมต้องไปบูทนั้นเป็นอันดับแรกๆ

แต่คุณผู้อ่านอาจจะเลือกเก็บไฮไลต์ไว้เป็นอันดับท้ายๆก็ได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องเลือกเป็นอันดับแรกเหมือนผมก็ได้ เผื่อว่าอยากจะเสพบรรยากาศภายในงานก่อน ค่อยไปดูบูทที่อยากไปดูที่สุดเป็นอันดับสุดท้าย อะไรทำนองนี้



2. เตรียมงบไปให้เพียงพอ

เชื่อผมเถอะครับ ต่อให้คุณผู้อ่านบอกว่า "โอ๊ย ฉันไม่ใช่สายเปย์ ฉันไม่คิดจะซื้ออะไรหรอก ก็แค่จะแวะไปดูเฉยๆ" แต่สุดท้ายมันจะต้องมีอะไรสักอย่างที่คุณผู้อ่านอดใจไม่ไหว ต้องซื้อมาจนได้ครับ (หรืออย่างน้อยๆก็คงต้องซื้อน้ำหรืออาหารกินแก้หิวในงานแหละเนอะ)

งบประมาณที่แนะนำว่าควรเตรียมไปก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่ไปงานและของที่คุณผู้อ่านตั้งใจว่าจะไปซื้อ ถ้าไม่ได้มีของอะไรที่อยากซื้อเป็นพิเศษ แนะนำว่าเตรียมไปสัก 10,000 เยนถือว่ากำลังดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป พอซื้อบัตรเข้าชมงาน ตั๋วรถไฟไปกลับ อาหารกลางวัน และช็อปของจุกจิกระหว่างทางสบายๆ ถ้ากะมาดูคอนเสิร์ตของไอดอล (ซึ่งที่งานนี้ก็มี แต่ผมไม่ได้ไปดูครับ) ก็ต้องดูว่าต้องจองผ่านเว็บหรือซื้อที่งานได้เลย ส่วนมากราคาบัตรคอนเสิร์ตจะแยกกับบัตรเข้าชมงาน ถ้ากะไปซื้อสินค้าพรีเมียมที่มีขายแค่ในงาน ก็ต้องศึกษาเรื่องราคาด้วยนะครับ เพราะบางชิ้นอย่างเช่น เสื้อแจ็กเก็ต Shin Godzilla รุ่นลิมิเต็ดที่ขายในงาน Anime Japan ราคาก็ปาไปราวๆ 40,000 เยนเลยทีเดียว

อ้อ ระวังเรื่องการล้วงกระเป๋าด้วยนะครับ งานการ์ตูนที่ญี่ปุ่นคนเยอะมากยิ่งกว่างานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ซะอีก อาจมีโอกาสเจอมิจฉาชีพได้ เดี๋ยวไม่มีตังค์กลับที่พักเดี๋ยวจะยุ่ง



3. อย่าลืมเช็กสภาพอากาศ

ขอบอกครับว่าการต่อคิวรอเข้าชมงานที่ญี่ปุ่นนั้นอาจจะดูน่าตื่นเต้นสำหรับคนเพิ่งเคยมาครั้งแรก แต่จากที่สอบถามคนในพื้นที่ เขาบอกว่าการต่อคิวไม่ใช่เรื่องสนุกสักเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นงานที่จัดช่วงหน้าร้อน ก็จะร้อนอบอ้าวจนร้องขอชีวิตแบบบ้านเรา ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวก็หนาวเหน็บจนแทบจะกลายร่างเป็นเพนกวินได้เลย แล้วยิ่งเกิดโชคร้ายเจอฝนตกอีกก็ยุ่งเลยครับ ถ้าจะไปต้องคอยเช็กสภาพอากาศให้ดีๆ หน้าร้อนก็เตรียมเสื้อผ้าสบายๆ ใบ หน้าหนาวก็เตรียมเสื้อกันหนาวไป ถ้าพยากรณ์อาการบอกว่าจะมีฝนตกก็เตรียมร่มกับเสื้อกันฝนไว้ด้วย

งาน Anime Japan ที่ผมไปเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ อากาศราวๆ 12-15 องศาเซลเซียส ถือว่าอากาศหนาวพอๆกับเชียงรายช่วงหน้าหนาว มีฝนปรอยๆ ผมเลยต้องเตรียมเสื้อกันหนาวกับเสื้อกันฝนไปด้วยเผื่อต้องใช้ แต่โชคดีที่วันนั้นไม่มีฝน ก็เลยยืนรับลมเย็นๆ สบายๆ มีเมื่อยขาบ้างเพราะต้องยืนรอเกือบค่อนชั่วโมง แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพของสตาฟ แถวเลยค่อนข้าง flow ค่อยๆเดินเข้าไปได้ ไม่ต้องยืนรอนานจนเกินไป :)


อากาศเย็นสบายๆ เหมือนเปิดแอร์ไว้ 24 ชั่วโมง
หนาวจนปากแห้ง โพรงจมูกแห้ง เลยต้องเอาผ้าพันคอมาปิดปากไว้ (ดีนะรปภ.ไม่ได้เข้าใจว่าเราจะมาก่อการร้าย)


4. ไปเร็วหรือไปช้าก็ได้ ไม่ต้องรีบเสมอไป

งานการ์ตูนส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดช่วงเวลา 10.00 น. แต่ในช่วงก่อนเวลาเข้างานจะมีผู้คนทยอยมาต่อแถวเป็นจำนวนมาก การไปเข้าแถวก่อนเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงมีข้อดีคือ พอถึงเวลาเปิดงาน เราก็จะเดินเข้าไปได้เลย ทำให้เรามีโอกาสได้เดินเยอะขึ้น ได้เลือกซื้อของที่อยากได้ก่อนคนอื่น ข้อเสียก็ตามที่บอกไว้ในข้อ 3 ครับ ส่วนการไปช้าแม้จะทำให้เราเสียโอกาสดูอีเวนต์สำคัญๆ พลาดซื้อของที่อยากได้ในงาน แต่ข้อดีคือแถวจะ flow กว่าต่อแถวช่วงเช้าเป็นอย่างมาก

ถ้าไม่ได้มีอีเวนต์สำคัญที่พลาดไม่ได้ เช่น สินค้าเปิดตัวใหม่ในงานที่คุณผู้อ่านอยากจะซื้อให้ได้ ผมแนะนำว่าไปสักสายๆ ถึงงานไม่เกินเที่ยง ก็ถือว่ายังอยู่ในเวลาที่เหมาะสมครับ

ตอนไปงาน Anime Japan ผมกับเพื่อนๆเลือกออกจาก Tsubame Guesthouse  ตอน 9 โมงครึ่ง เดินไปขึ้นรถไฟฟ้า JR จากสถานี Asakusabashi ไปต่อสถานี Akihabara สาย Yamanote จากนั้นต่ออีกสถานีที่ Shimbashi สาย Yurikamome ไปลงที่สถานี Kokusai-Tenjijo-Seimon ใช้เวลาประมาณเกือบๆ 1 ชั่วโมงก็ถึงที่หมายสบายๆครับ


ต่อแถวกันยาวเป็นกิโลเลยครับ

5.สำรวจแผนที่และทางเข้างานให้ดีๆ

อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผมตอนมางาน Anime Japan ครับ ตอนแรกผมเดินตรงเข้า Tokyo Big Sight จากสถานี Kokusai-Tenjijo-Seimon พอเดินออกมาเห็นมีทางเข้าเชื่อมอยู่ ไอ้ผมก็ดันมั่นใจมาก เดินดุ่มๆ เข้าไปโดยไม่ได้สังเกตทางหรือถามประชาสัมพันธ์เลย พอผมจะเข้าไปในงาน ก็โดยสตาฟบอกว่าเข้าไม่ได้ เป็นช่องทางเข้าสำหรับ Re-entry ให้คนซื้อบัตรแล้วเดินออกนอกงานกลับมาเข้าชมงานได้เท่านั้น ทำให้ผมต้องเสียเวลาเดินอ้อมไปด้านหลังเพื่อไปต่อคิวซื้อบัตรและเข้างานครับ (ตามรูปข้างบน คือหลังตึก Tokyo Big Sight) และระยะทางก็ค่อนข้างไกลไม่น้อย ดีว่าช่วงนั้นอากาศยังเย็นสบายๆ ไม่งั้นได้อาบเหงื่อแน่ๆ

ผมได้มารู้ทีหลังว่า งานการ์ตูนที่ผมไปนั้น เขาจะปิดทางเข้าให้เหลือแค่ทางเข้าช่องเดียว เพื่อรักษาความปลอดภัยและความเป็นระเบียบ ส่วนช่องทางเข้าออกส่วนที่เหลือจะมีไว้ให้ผู้เข้าชมเดินเข้าออกไปทำธุระนอกงานได้สะดวก ไม่เหมือนกับบ้านเราที่เปิดให้เข้าได้มากกว่าหนึ่งทาง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องต่อแถวรอเข้างานเกือบครึ่งค่อนชั่วโมง แต่โดยรวมแล้วผมยอมรับมันเป็นมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับประเทศที่มีผู้คนมากมายมหาศาลขนาดนี้


ถึงจะเป็นทางเดินเข้า Tokyo Big Sight แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทางเข้างานนะ เอ้า งงเด้ งงเด้
ดีนะที่พอจะสื่อสารกันรู้เรื่องบ้าง เลยพอหาทางเข้างานได้ ฮา


6. นัดหมายจุดนัดพบ 

ทำใจไว้ได้เลยครับ งานการ์ตูนที่ญี่ปุ่นนั้นระดับเหมาอิมแพ็คเมืองทองธานีเลยทีเดียว มวลมหาประชาชนจากญี่ปุ่นและทั่วทุกมุมโลกก็นับหมื่นกว่าคน โอกาสพลัดหลงมีสูง เสียงรอบข้างก็ค่อนข้างดังอยู่บ้าง และด้วยประสบการณ์ที่ผมเดินงานหนังสือและงานการ์ตูนในไทยมาหลายงาน การที่ต้องเดินตัวติดกับเพื่อนๆ กลัวหลงทางอยู่ตลอดเวลามันไม่ค่อยสนุกสักเท่าไหร่ (เข้าใจอารมณ์นี้ครับ ผมเองก็เป็น บางบูทมันน่าสนใจมากจนเกรงใจเพื่อนๆที่ต้องยืนรอเราดูให้เสร็จ)

แนะนำว่าก่อนเข้าชมงาน ให้นัดหมายเอาไว้ก่อนว่าจะเจอกันที่ตรงไหน กลับมาเจอกันตอนกี่โมง และฉุกเฉินจะติดต่อกันอย่างไร (อย่าลืมเช็กว่าซื้อซิมการ์ดมาหรือเปล่า ใช้โทรได้มั้ย ถ้าโทรไม่ได้ ลองเช็กก่อนว่าต่อเน็ตเพื่อโทรผ่าน Line ได้หรือเปล่า) เท่านี้ต่อให้เดินหลงทางก็ยังสนุกสนานกับงานได้ไม่สะดุดครับ
ผมนัดกับเพื่อนไว้ว่า ถ้าหลงทาง บ่ายสามโมงให้มาเจอกันที่หน้าประตู Hall 2 ใต้โปสเตอร์ Fate Grand Order


7. รู้ว่าจุดไหนห้ามถ่ายรูป จุดไหนต้องต่อแถว จุดไหนห้ามเดินผ่าน

ในงานการ์ตูนที่ญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าทุกจุดจะถ่ายรูปได้นะครับ อย่างเช่นบางบูทมี Special Guest เป็นนักพากย์หรือไอดอลที่มีชื่อเสียงมาโชว์ตัว เขาก็จะขอความร่วมมือไม่ให้ถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอ (เป็นเหตุผลทางลิขสิทธิ์ของต้นสังกัด) บางบูทก็มีติดป้ายว่าอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ (เผื่อบางคนลังเลไม่รู้ว่าให้ถ่ายได้หรือไม่) บางบูทก็มีสตาฟถือป้ายว่าตรงไหนเป็นหัวแถวหรือท้ายแถว บางบูทคนสนใจเข้าชมเยอะมากก็มีการบังคับให้ต่อแถว เราก็อย่าไปแทรกคิวคนอื่นเขานะครับ บางบูทมีเชือกกั้นก็แปลได้ง่ายๆ ว่าห้ามเดินผ่านตรงจุดนั้น 

ลองสังเกตกันดีๆ หรือไม่ก็ลองสอบถามกับสตาฟที่ดูแลบูทนั้นๆ ครับ สื่อสารภาษาอังกฤษด้วยคำง่ายๆ ก็ได้ พวกเขาพอจะฟังเข้าใจครับ



8. มีของแจก รับไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

ก็เหมือนกับงาน Exhibition ทั่วๆไปคือ เจ้าของบูทแต่ละแห่งต่างก็มีพวกโบว์ชัวร์หรือโปสเตอร์มาแจกให้ผู้เข้าชมงาน บางบูทก็แจกเป็นถุงกระดาษ หรือไม่ก็แฟ้มใส่เอกสาร ปกติเรามักจะปฏิเสธไม่รับของใช่มั้ยล่ะครับ แต่ผมอยากแนะนำให้รับไว้ เอาไว้อ่านเพื่อรับรู้ข่าวสาร หรือเก็บเป็นที่ระลึก จะได้เอาไปแจกหรืออวดคนอื่นได้ครับว่าไปงานนั้นมาแล้ว หรือถ้าไม่อยากหิ้วกลับบ้าน แบบว่าหนักมาก เกะกะสัมภาระ จะทิ้งลงถังขยะที่อยู่ภายในงานก็ได้ครับ แต่ต้องทิ้งลงถังที่บอกว่าเป็นกระดาษและหนังสือเท่านั้นนะ (คนญี่ปุ่นมักแยกประเภทขยะเสมอ เราต้องให้ความร่วมมือหน่อยครับ)


เยอะมากครับ ยังงงตัวเองอยู่ว่ายัดใส่กระเป๋าสะพายกลับมาได้ยังไง ฮา


ก็เป็นไกด์ไลน์ที่น่าจะทำให้คุณผู้อ่านพอจะเข้าใจว่าต้องเตรียมตัวไปยังไงในการเข้าชมงานการ์ตูนที่ญี่ปุ่นนะครับ ถ้าคุณผู้อ่านมีความเห็นอะไรเพิ่มเติมก็ลองคอมเมนต์แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันได้เลย ส่วนใครที่สนใจอยากไปและต้องการคนช่วยวางแผนเที่ยวญี่ปุ่นและงานการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนก็ตาม ผมขอแนะนำบริษัท I Love Japan Tours ครับ ที่นี่มีทีมงานมืออาชีพพร้อมยินดีให้บริการทุกอย่าง ทั้งจองตั๋ว จองโรงแรม พร้อมทั้งมีรถส่วนตัวและไกด์ผู้เชี่ยวชาญคอยอำนวยความสะดวกและแนะนำสถานที่ รับรองว่าทุกท่านจะประทับใจในการบริการอย่างแน่นอน!



หลับตาฝันถึงงานการ์ตูนครั้งหน้า l Photo : Nakorn Srisomwongs

ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com