e เรื่องทั่วไป

มาราธอนแรกในญี่ปุ่น ความประทับใจไม่รู้ลืม

มาราธอนแรกในญี่ปุ่น ความประทับใจไม่รู้ลืม

By , Tuesday, 02 January 2018

สวัสดีเพื่อนๆชาว ilovejapan.co.th ที่น่ารักทุกคนครับ Yuri JT กลับมาอีกครั้ง หลังจากหายหน้าหายตาไปนานกว่าครึ่งปี และที่หายหน้ากันไปนานขนาดนี้ก็เพื่อเตรียมตัวสำหรับงานใหญ่งานหนึ่งของเมืองโอซาก้าอย่าง "Osaka Marathon 2017" นั่นเอง การเดินทางของคนที่รักในกีฬาวิ่งคนหนึ่งได้มาถึงทางแยกใหญ่ เมื่อวันหนึ่งที่ได้รับเลือก(ล็อตโต้)ให้เข้าร่วมการแข่งขันมาราธอนเป็นครั้งแรกในชีวิต ครั้งแรกนั้นสำคัญเสมอสำหรับทุกเรื่อง การวิ่งมาราธอนก็เช่นกัน ถ้าหากว่าครั้งแรกเริ่มต้นได้ไม่ดีก็อาจจะไม่อยากมีครั้งต่อๆไปก็เป็นได้ ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ได้ออกแบบและพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทดสอบความพร้อมของร่างกายคนเราได้ว่าแกร่งพอหรือไม่ แต่ว่าสนามแข่งวิ่งมาราธอนแต่ละสนามก็จะมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันออกไปที่จะส่งผลให้เราล้มพับหมดแรงหมดพลังอยู่กลางทาง หรือผลักดันให้เรามีพลังกายและใจบากบั่นต่อไปจนเข้าเส้นชัยได้ มาดูกันครับว่าผมจะทำได้สำเร็จหรือไม่?

บรรยากาศวันลงทะเบียน

มาราธอนครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นก่อกำเนิดความหวั่นวิตก ไม่ต่างอะไรกับการวางแผนเดินทางมาเที่ยวประเทศนี้ในครั้งแรก ผมไม่รู้เลยว่าลำดับขั้นตอนตั้งแต่การลงทะเบียนรับหมายเลขประจำตัวนักวิ่ง หรือ BIB ไปจนถึงการเข้าประจำตำแหน่งบล็อกปล่อยตัวในวันแข่งขันนั้นจะเป็นอย่างไร บรรยากาศแบบไหน จะเจออะไรบ้าง จะพลาดอะไรหรือไม่ จะติดหรือลืมอะไรจนทำให้ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันหรือเปล่า ความกังวลเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ผมไม่มีเพื่อนร่วมทีมมาร่วมวิ่งด้วยกันในครั้งนี้ (ฉายเดี่ยวตั้งแต่ซ้อมจนถึงวันจริง เพราะผมไม่มีสังกัดทีมวิ่ง) จะมีก็เพียงแต่คุณภรรยาที่ร่วมเดินทางมาให้กำลังใจและเดินทางมาเป็นเพื่อนในวันลงทะเบียนที่ INTEX HALL เท่านั้น ไม่ได้ร่วมการแข่งขันด้วย

ผมเลือกเดินทางมาโอซาก้าก่อนวันแข่งขัน 3 วัน เพื่อเผื่อเวลาให้กับความผิดพลาดในการไปลงทะเบียนร่วมแข่งขันและเผื่อเวลาให้คุณภรรยาได้ไปเที่ยวในระแวกใกล้ๆโอซาก้า โดยการลงทะเบียนจะมีเวลารวมทั้งหมด 2 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. วันที่ 24 และสิ้นสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. ผมและภรรยาวางแผนท่องเที่ยวในเมืองโอซาก้าและไปลงทะเบียนในวันแรก

​จากรูปภาพด้านบน Yuri JT : Run for encouragement เป็นข้อความ I Run for … ที่ผมได้เขียนไว้ในการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ osakamarathon.co.jp ข้อความนี้ทางผู้ลงทะเบียนต้องเขียนทุกคน โดยไม่มีผลต่อการพิจารณารับเลือกเข้าแข่งขันแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการบ่งบอกความมุ่งมั่นปรารถนาของผู้ลงทะเบียนและจะถูกนำมาใส่ไว้เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้เข้าร่วม Osaka Marathon 2017 ทั้งหมด 32,000 คน 

การลงทะเบียนรับหมายเลขนักวิ่งหรือ BIB นั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ลงทะเบียนรับ QR code ก่อนหน้าที่จะมางานลงทะเบียนในวันนี้ โดยผู้ร่วมการแข่งขันจะได้รับอีเมล (official email) ซึ่งส่งมาก่อนวันลงทะเบียนประมาณ 10 วัน พอมาถึงหน้าโต๊ะลงทะเบียนที่ INTEX ในวันนี้ เราก็แค่โชว์ QR code ที่เราได้รับอีเมลมาก่อนหน้านี้ให้เจ้าหน้าที่ทำการ scan จากนั้นเราก็จะได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เสื้อ Osaka Marathon 2017 ตามไซซ์ที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้, ป้ายหมายเลขนักวิ่ง, Timer chip สำหรับติดรองเท้า และนอกจากนี้ในงานมีการจัดแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า,อุปกรณ์กีฬาวิ่งหลากหลายครบครันด้วยราคาที่หาซื้อไม่ได้ในเมืองไทย จากยี่ห้อ Mizuno ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของงานนี้ด้วยครับ


โอซาก้ามาราธอน 2017.11.26 

เวลาตีห้าผมตื่นนอนมาด้วยความตื่นเต้น สิ่งที่เคยคิดว่ายากเย็นหนักหนาและยาวนานผ่านมาครึ่งปีได้มาถึงวันกระจ่าง วันที่จะต้องออกไปเผชิญแล้วเพียงลำพัง หกโมงครึ่ง หลังจากเตรียมตัวทุกสิ่งอย่างเสร็จเรียบร้อย ทั้งชุดวิ่งและอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้ ออกจากห้องพักในย่าน Namba นั่งรถไฟมุ่งหน้าไปยังจุดปล่อยตัวที่บริเวณหน้าปราสาทโอซาก้า อากาศนั้นเย็นใช่เล่น อยู่ที่ประมาณ 7 องศา ก่อนหน้านั้นผมได้อ่านรีวิวเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนในญี่ปุ่นมา มีผู้ปันประสบการณ์ไว้ว่าการวิ่งมาราธอนในที่ที่อากาศหนาวเย็นนั้นเราต้องทำร่างกายให้อบอุ่นก่อนจะออกวิ่ง ไม่อย่างนั้นเราอาจประสบปัญหาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้ตั้งแต่เริ่มออกวิ่ง ด้วยวิธีง่ายๆเพียงแค่หาเสื้อกันฝนแบบยาวที่หาซื้อได้ตามร้านไดโสะหรือร้าน 100 เยน เอามาใส่กันลมเย็นยะเยือกในระหว่างรอปล่อยตัว เพราะชุดที่ใส่วิ่งกันจริงๆนั้นแทบไม่มีอะไรช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้แต่อย่างใด และเมื่อวิ่งไปจนร่างกายเริ่มร้อนขึ้นก็ค่อยถอดออกแล้วทิ้งไปเลยในระหว่างทาง (ตามจุดทิ้งขยะ) ไม่ต้องหาทางพับเก็บให้เสียเวลาและพะรุงพะรังเหมือนการใส่เสื้อกันหนาวไปวิ่ง ก็ลองทำตามสูตรดูครับ ใส่เสื้อกันฝนเดินออกจากโรงแรมไปสถานี Subway วัยรุ่นแถวๆย่าน Namba ก็มองกันด้วยสายตาประหลาดๆ ฮ่าฮ่าฮ่า ^^" 

เจ็ดโมงนิดๆผมก็เดินทางมาถึงบริเวณปราสาทโอซาก้าโดยลำพัง (Osaka Castle Business Park) ก็เดินไปตามแผนที่ที่ทางฝ่ายผู้จัดงานเค้าได้ส่งอีเมล์มาให้ แล้วก็เดินตามๆฝูงชนเหล่านักวิ่งด้วยกันไปเรื่อยๆก็จะผ่าน Kyocela Dome อันเลื่องชื่อ จนมาถึงลานสนามเบสบอลที่มีการตั้งห้องน้ำชั่วคราวไว้ให้เราได้เตรียมตัวเข้ากันให้เรียบร้อยก่อนจะเข้าไปยังจุดเตรียมตัวและฝากสัมภาระ

​เมื่อเตรียมตัวเรียบร้อยก็เอาของที่ต้องฝากไปฝากไว้ที่จุดฝากสัมภาระ ซึ่งเป็นรถบรรทุกที่จะพาเอาสัมภาระของนักวิ่งทุกคนที่มาฝากไว้ไปรออยู่หลังเส้นชัยใน INTEX Hall โดยที่ฝ่ายจัดงานจะกำหนดหมายเลขมาให้แล้วว่าเราต้องเอาไปฝากรถบรรทุกหมายเลขอะไร เสร็จสิ้นจากการเตรียมตัว เข้าห้องน้ำ แต่งตัว ฝากสัมภาระเรียบร้อยหมดแล้ว ก็ค่อยๆเดินกันไปยังบล็อกปล่อยตัว ที่ทางฝ่ายจัดงานได้กำหนดมาให้เราแล้วเช่นกัน ซึ่งแต่ละบล็อกจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลกำกับให้นักวิ่งเข้าตามบล็อคของตัวเอง และมีป้าย A-P กำกับไว้ทุกบล็อค

​เชิญเพื่อนๆรับชมวิดีโอคลิปบรรยากาศในวันแข่งขันจริงที่ผมได้บันทึกเอาไว้ เป็นมุมมองจากตัวผมเองล้วนๆ เพราะงานนี้ฉายเดี่ยวครับ ไม่มีเพื่อนร่วมทีมที่สามารถช่วยถ่ายทำให้ได้เลย จึงต้องอาศัยกล้อง GoPro 1 ตัว ติดสายคาดอก แบตเตอรี่ 3 ก้อน ออกวิ่งไปด้วยกันตั้งแต่เข้างานจนจบงาน บรรยากาศงานจะเป็นอย่างไร Yuri JT จะไหวจนจบ 42.195 กิโลเมตรหรือไม่ มาชมกันเลยครับ ^^


ความตื่นเต้นที่จุด Start

เวลา 9 โมงตรง เสียงปืนปล่อยตัวดังขึ้น เฮลิคอปเตอร์ข่าวบินผ่านไปมาหลายลำ เสียง MC และดนตรี Theme งานโอซาก้ามารอนดังกระหึ่มปลุกเร้าเหล่าบรรดานักวิ่ง แถวนักวิ่งกว่า 32,000 คนค่อยๆขยับเคลื่อนกันออกจากจุดปล่อยตัว บรรยากาศตอนผ่านป้าย Start นั้น ให้ความรู้สึกเป็นคนดัง มีกล้องถ่ายทำรายการโทรทัศน์ร่วมสิบตัว ช่างภาพมืออาชีพรอถ่ายเราจากมุมสูง (ทั้งบนแสตนด์และบนสะพาน) ชาวเมืองโอซาก้าที่มายืนรอกันอยู่หลังรั้วกั้น ต่างส่งเสียงเชียร์กันดังกระหึ่ม บางคนยื่นมือมาเพื่อขอแท็กมือกับเรา พร้อมกับเปล่งเสียงให้กำลังใจเป็นภาษาญี่ปุ่น "กัมบัตเตะ" (頑張って = Ganbatte) ซึ่งมีความหมายว่า "พยายามเข้านะ" อย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ^^

ผู้คนต่างชาติต่างภาษารวมตัวกันแน่นอยู่ในบล็อคปล่อยตัว มีทั้งที่มาเป็นทีม มีทั้งที่มาเป็นคู่ และมีทั้งคนที่มาฉายเดี่ยวซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางอากาศและสายลมเย็นอันเย็นยะเยือกที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา แต่ผมกลับรู้สึกว่าการออกวิ่งระยะทางกว่า 42 กิโลเมตรครั้งนี้ จะเต็มไปได้ด้วยความอบอุ่นใจ จากมิตรภาพจากชาวเมืองโอซาก้า วิ่งไปยิ้มไป วิ่งไปยิ้มไม่หุบเลย ถึงจะหนาวปากสั่นแต่ก็ยังคงไปต่อได้อย่างมั่นใจ อุณหภูมิร่างกายค่อยๆเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อขาอบอุ่นขึ้นและเซ็ตตัวดีขึ้นเรื่อยๆพร้อมที่จะพากายและใจดวงนี้ไปสู่เส้นชัย


บรรยากาศการเดินทาง 42.195 กิโลเมตร

ตลอดเส้นทางผมได้เห็นความพร้อมเพรียงของทีมงานโอซาก้ามาราธอนในทุกๆด้าน จุดบริการน้ำดื่มและอาหารว่าง (กล้วยและขนมปังเบาๆ) มีพร้อมทุกๆระยะ 5 กม. หน่วยแพทย์ฉุกเฉินพร้อมเครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED) ทุกระยะ 2 กม. ห้องน้ำก็พร้อมทุกจุด check point เช่นกันครับ แถมมีการตั้งป้ายบอกตลอดทางด้วยว่าหากผ่านจุดนี้ไปจะมีห้องน้ำข้างหน้าในอีกระยะทางเท่าใด (อื้อหีอ ละเอียดแท้) แต่ถึงจะมีห้องน้ำถี่แค่ไหนผมก็ไม่กล้าแวะเข้าห้องน้ำเลยล่ะครับงานนี้ เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาและทำให้วิ่งหนี "รถเก็บ" ไม่ทัน ฮ่าฮ่าฮ่า 

อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "รถเก็บ" นิดนึงครับ รถเก็บเป็นรถโค้ชที่วิ่งตามท้ายขบวนนักวิ่งที่ความเร็ว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะวิ่งถึงเส้นชัยใน 7 ชั่วโมงจากจุดปล่อยตัว สำหรับนักวิ่งที่ไปต่อไม่ไหวก็สามารถโดดขึ้นไปนั่งยาวๆถึงจุดที่ต้องการลงได้ แต่จะต้องออกจากการแข่งขันที่ check point ต่อไปเพราะเส้นทางมาราธอนจะถูกปิดลงหลังจากขบวน "รถเก็บ" นี้ได้ผ่านไป

นับเป็นโชคดีมากที่วันนี้แดดไม่จัดมากนัก การวิ่งที่แม้ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังคงมีการส่งกำลังใจจากชาวเมืองอยู่เรื่อยๆ และที่น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือ นักวิ่งหลายๆคน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักกันต่างก็เริ่มกันส่งกำลังใจให้กันบ้างแล้ว เมื่อระยะทางเริ่มส่งผลกับสภาพร่างกายและจิตใจของพวกเค้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเริ่มหยุดวิ่งแล้วเดินเพื่อผ่อนคลายจากความเจ็บปวด บางคนต้องหยุดเพื่อยืดเส้นอยู่ข้างทาง

ในหลายๆจุดระหว่างทางยังมีความประทับใจที่ผมและนักวิ่งหลายๆคนคงจะลืมไม่ลงจริงๆ เพราะนอกจากเสียงเชียร์ "กัมบัตเตะ" และ "ไฟท์โตะ" หรือว่าจะเป็นการยื่นมือออกมาจากข้างทางเพื่อแท็กกับนักวิ่งเป็นการให้กำลังใจแล้ว ยังมีชาวเมืองรวมกลุ่มกันในหลายๆจุด มายืนถือกระป๋องสเปรย์แก้ปวดรอให้กับนักวิ่งมารับไปพ่น เมื่อพวกเขาเริ่มเกิดอาการยางแตกและต้องเข้าข้างทางกัน (เริ่มตึงเริ่มปวด ต้องใช้สเปรย์ระงับอาการ) และในหลายๆจุดก็มีการส่งกำลังใจให้นักวิ่งกันด้วยการแสดงจากชาวเมือง นักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งวงดุริยางค์ วงออเคสตร้า วงดนตรีร็อค การร้องประสานเสียง ป็อบแดนซ์ หรือแม้แต่ระบำพื้นเมืองแบบญี่ปุ่น ... "นี่มันสุดยอดมากๆ" ผมคิดดังลั่นอยู่ในหัวตัวเอง (รู้ตัวเลยครับว่าตัวเองนั้น... หน้าระรื่นตลอดทางครับ บอกเลย ฮ่าฮ่า)

มาชมกันในวิดีโอคลิปต่อไปกันเลย!!



มาถึงช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ที่ผมอยากจะขอให้เป็นกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนๆทุกคนที่ชอบการวิ่งหรือใครที่เตรียมตัวเพื่อวิ่งมาราธอนครั้งแรกอยู่ ทุกคนทุกรายการครับ สิ่งหนึ่งที่เราจะได้กลับมาแน่นอนคือการทำเพื่อชนะใจตัวเองหากเราได้ลงมือทำลงมือซ้อมจนสุดความสามารถแล้วจริงๆ แม้จะไปไม่ถึงเส้นชัยก็ตามครับ จะมีความหมายอย่างไรยิ่งใหญ่แค่ไหนหากได้มาถึงจุดนี้

มาชมกันในวิดีโอคลิปสุดท้ายในงานนี้ของผมได้เลยครับ


ส่งท้ายกันด้วยอีกหนึ่งความหวังของ Yuri JT ที่หวังว่าบล็อกนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆที่รักในกีฬาวิ่ง และอยากที่จะลงวิ่งมาราธอนสักครั้งในชีวิต ให้มาลองครั้งแรกที่โอซาก้า เมืองสวรรค์ของคนรักการกิน-เที่ยว-ช็อปที่ไม่เคยทอดทิ้งคนรักสุขภาพและกีฬาแห่งนี้แบบผม 

สิ่งหนึ่งที่นักวิ่งอย่างเราๆจะไม่มีวันลืม ไม่ใช่ผลงานของตัวเองว่าไปวิ่งมาระยะทางเท่าไหร่ ไปวิ่งที่ไหนมา พิชิตสนามนั้นสนามนี้ด้วยเวลาเท่าไหร่ สิ่งเหล่านั้นแทบไม่มีความหมายอะไรเลย หากแต่เป็นเป้าหมาย เป็นความหมายของการออกวิ่งครั้งนั้นๆ มากกว่าที่จะคงอยู่ในความทรงจำของเราให้เราจดจำไปตลอดชีวิตเราว่าครั้งหนึ่งเราเคยทำได้ เราทำเพื่อใคร 

เหมือนครั้งหนึ่งที่เมืองไทยเรามีชายคนหนึ่งที่วิ่งจากสุดเขตชายแดนภาคใต้ไปจนสุดเขตชายแดนภาคเหนือ ใช่ครับ... พี่ตูน บอดี้สแลม ที่ตอนนี้วิ่งจบระยะทาง 2,191 กม.ไปแล้ว และเชื่อว่าไม่มีใครในประเทศไทยเราไม่รู้จักพี่ตูน #ก้าวคนละก้าว ของพี่ตูนมีเป้าหมาย มีความหมายอย่างไรต่อสังคม ผมเชื่อว่าเพื่อนๆทุกคนต่างรู้กันดี ไม่ใช่เพียงเพื่อ 11 โรงพยาบาลรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังได้สร้างค่านิยมในการหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งให้แก่สังคมไทยอีกด้วย การวิ่งที่ได้รับการยอมรับกันในวงกว้างแล้วว่าเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายและได้ผลต่อการรักษาสุขภาพจริง

การออกวิ่งของเราอาจไม่มีความหมายยิ่งใหญ่มากเท่าที่พี่ตูนได้ทำไว้ใน #ก้าวคนละก้าว แต่อย่างน้อยมันจะมีคุณค่ามีความหมายกับตัวเราเองที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อตัวเราและเพื่อคนที่เรารัก รักใคร บอกให้เค้าออกกำลังกายครับ กีฬาเป็นยาวิเศษ

ปีเก่ากำลังจะผ่านไปอีกปีครับ สิ่งเก่าๆที่เคยคิดว่าเนิ่นนานกว่าจะผ่านมาได้ มันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วความสำเร็จก็พุ่งเข้ามาหาเรา แน่นอนว่าความสำเร็จนั้นแต่ละคนเรานิยามเอาไว้ไม่เหมือนกัน สำหรับผมการชนะใจตัวเอง ชนะมันมาด้วยระเบียบวินัย ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจนทำให้พิชิต 42.195 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิตได้ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และผมก็เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลงอีกด้วย(อันนี้ถือเป็นของแถม อิอิ) ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนก็คงมีเป้าหมายเดียวกับผมเช่นกัน คือการ "ชนะใจตัวเอง" มันยิ่งใหญ่จริงๆครับ(เหรียญรางวัลสวยมากๆด้วย อิอิ) สวัสดีครับ