e เรื่องทั่วไป

5 วิธีตีซี้กับเพื่อนคนญี่ปุ่น

5 วิธีตีซี้กับเพื่อนคนญี่ปุ่น

By , Wednesday, 15 June 2016

การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของดิฉัน มีหลายครั้งมากที่ดิฉันต้องเข้าสู่สังคมใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกลุ่มในมหาวิทยาลัย ซึ่งหลายครั้งดิฉันไม่สามารถเลือกเองได้…จับฉลากบ้าง ไม่ก็อาจารย์จับกลุ่มให้ หรือต้องออกไปเก็บข้อมูลทำรายงาน ทำให้รู้จักคนไปทั่ว

ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน แต่เรื่องการทำงานพาร์ทไทม์ก็เช่นกัน ดิฉันเปลี่ยนงานพาร์ทไทม์มา 3 ที่ (เปลี่ยนบ่อยไม่ใช่เขาไล่ออกนะคะ ดิฉันแค่อยากทำอะไรใหม่ๆเองค่ะ) เจอคนเด็กกว่า โตกว่า มีเพื่อนร่วมงานเป็นรุ่นพ่อแม่ก็มีค่ะ

ซึ่ง "เพื่อน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนอายุเท่ากันเท่านั้นนะคะ แต่หมายถึง ทุกคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานทุกเพศทุกวัยเลย แล้วเราจะมีเทคนิคการเข้าหาบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร วันนี้ดิฉันได้นำประสบการณ์ตรงของตัวเอง มาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ


1.เขียนชื่อภาษาไทยให้เขา 

คนญี่ปุ่นจะตื่นเต้นมากที่ได้เห็นชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยค่ะ (ร้อยทั้งร้อยตื่นเต้นจริงๆค่ะ คอนเฟิร์ม)


มุขนี้ดิฉันใช้บ่อยสุด ใช้ได้ทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ ทุกคนจะตกใจกับอักษรไทยมากๆ แล้วก็จะดีใจมากที่ได้เห็นชื่อตัวเองในภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ขอยกเหตุการณ์จริงและชื่อตัวละครที่ค่อนข้างจริงให้ชมค่ะ

ณ ร้านซูชิหลังเลิกงาน และเก็บร้านเรียบร้อย…ดิฉันที่เพิ่งเข้างานใหม่ๆ ก็ยืนมองดูตารางเข้าเวรที่มีชื่อคนอื่นๆเขียนเป็นคันจิยั้วเยี้ยไปหมด ดิฉันเลยหันไปถามเมเนเจอร์ คุณยามามิจิ

"คุณยามามิจิ…ชื่อจริง อ่านว่าอะไรคะ??"
"ยามามิจิ อากิฮิโตะ! ทำไมเหรอ อ่านไม่ออกล่ะสิ คันจิแปลกใช่ไหมล่ะ"
"ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ขอจดคำอ่านไว้ก่อนนะ"
แล้วดิฉันก็หยิบสมุดส่วนตัวขึ้นมาเขียนชื่อคุณยามามิจิเป็นภาษาไทยลงไป
"เอ๊ะ! นั่นคือชื่อผมเป็นภาษาไทยเหรอ!!!"
"ใช่ค่ะ"
"เดี๋ยวนะ ช่วยเขียนใส่กระดาษให้ผมอีกทีได้ไหม อยากเก็บไว้"

การตีเนียน แกล้งถามชื่อและเขียนเป็นภาษาไทย ทำให้ดิฉันก็ได้พูดคุยเรื่องไทยกับคุณยามามิจิต่ออีกเยอะเลยค่ะ ส่วนดิฉันเองก็ได้รู้เรื่องญี่ปุ่นๆเยอะแยะเช่นกัน พอวันรุ่งขึ้น น้องๆที่ทำงานคนอื่นก็เริ่มเข้าหา เพราะอยากให้ดิฉันเขียนชื่อภาษาไทยให้ค่ะ แล้วก็กลายเป็นว่าเราสนิทกันเร็วมากด้วยการเขียนชื่อภาษาไทยนี้


2. "คันจิตัวนี้อ่านว่าอะไรนะ"


หนังสือเรียนคณะนิเทศศาสตร์ตอนปี1 ของดิฉันเองค่ะ แต่ตอนนี้จำอะไรไม่ได้เลยค่ะ


จะเรียกว่าเป็นการแสร้งตีซี้ก็ไม่ใช่…เพราะดิฉันโง่คันจิจริงๆค่ะ ยิ่งเรียนในมหาวิทยาลัย เจอศัพท์ที่มันเป็นเฉพาะทางขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเหมือนไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นเข้าไปทุกทีๆ ดังนั้นการเปิดประเด็นชวนเพื่อนคุย ว่า "เธอๆ คันจิตัวนี้อ่านว่าอะไร" หรือ "แปลว่าอะไรน่ะ ฉันหาในดิกส์ไม่เจอ" ก็ถือเป็นรูปแบบการตีซี้ที่ดีค่ะ

แต่ขอบอกเลยนะคะ บางทีคำไหนยากจริงๆ คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้วิธีอ่านหรือความหมายเหมือนกัน! แต่มันจะสนุกเมื่อเพื่อนเริ่มสะกิดถามคนข้างๆ ไปเรื่อยๆ หรือช่วยกันเปิดเน็ตหาความหมายมาอธิบายให้ดิฉัน แล้วสักพักก็จะเปลี่ยนบทสนทนาว่า "เธอมาจากประเทศอะไรนะ?" "คนไทยนี่ ใช้ภาษาไทยใช่ไหม" "ภาษาไทยไม่มีคันจิสินะ" "คันจิยากเนอะ ฉัน(คนญี่ปุ่น)เองยังอ่านไม่ออกเลย"


3. สอนจับตะเกียบอย่างถูกวิธีให้หน่อยสิ ?
ที่มา http://pantip.com/topic/34410668


ถึงแม้ว่าดิฉันจะเกิดในครอบครัวจีน อาม่ายื่นตะเกียบให้ทุกครั้งที่กินข้าว แต่ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่า ในเมื่อมีช้อนส้อมแล้วจะใช้ตะเกียบทำไม ดิฉันจะใช้ตะเกียบก็ต่อเมื่อกินก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น

หลังจากมาเรียนที่ญี่ปุ่นดิฉันโดนเพื่อนคนจีนและญี่ปุ่นทักบ่อยมาก ว่า "เธอจับตะเกียบอะไรน่ะ แปลกมาก" แต่เมื่อดิฉันมองคนไทยด้วยกัน อ้าว เขาก็จับเหมือนดิฉันนิ แสดงว่าคนไทยส่วนมากจับตะเกียบผิดเหรอ!!? เพื่อนๆก็จะสอนให้จับอย่างถูกวิธีค่ะ (แต่สุดท้ายมันก็ไม่ถนัดอ่านะ)

แล้วสักพัก บทสนทนา ก็จะเปลี่ยนเป็นเรื่องอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น อาหารหลากหลายประเทศ ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มาหมดค่ะงานนี้ ซึ่งทำให้นำไปสู่ข้อ 4. ค่ะ


4. ทำอาหารไทยให้ หรือพาไปกินอาหารไทย และมีความสุขในการนั่งมองเขากินเผ็ดไม่ได้

ร้านอาหารไทยแถวบ้านที่ดิฉันพาเพื่อนญี่ปุ่นไปเผ็ดค่ะ


เดี๋ยวนี้ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นมีเยอะมากค่ะ ราคาจานละ 800 – 1,000 เยน แต่รสชาติดี เหมือนที่ไทยเลยนะคะ นอกจากว่าวัตถุดิบบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไปใช้ให้ใกล้เคียงบ้าง แต่ก็ไม่เสียรสชาติมาก ดังนั้นหากคุณไม่มีฝีมือการทำอาหารมากมายนัก การพาเพื่อนๆไปนั่งกินที่ร้านก็สะดวกสบายกว่า

ดิฉันเคยพาเพื่อนผู้หญิงญี่ปุ่นไปทานที่ร้านค่ะ เมนูวันนั้นคือ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวนที่ราดด้วยน้ำจิ้มไก่ ดิฉันบอกคุณเพื่อนว่าเห็นพริกในน้ำจิ้มเยอะแบบนี้ แต่มันไม่เผ็ดนะ มันหวานๆมากกว่า คุณเพื่อนเลยเชื่อและจิ้มไปเยอะมาก

ผลสุดท้ายเป็นไงล่ะคะ…น้ำหมดไปสามเหยือก!!! ดิฉันไม่ควรดูถูกการกินเผ็ดของคนญี่ปุ่นจริงๆค่ะ (เค้าขอโทษนะเพื่อน..)


5.เอาของฝากจากไทยไปให้

ขนมและจดหมายที่คุณป้าให้ค่ะ ก่อนทานดิฉันถ่ายรูปเก็บไว้เป็นความทรงจำค่ะ


ทุกครั้งที่ปิดเทอม กลับไทยไปฉันจะขนขนมมากมายกลับมาญี่ปุ่นค่ะ ดิฉันเคยเอาทองม้วนไปให้คุณป้าที่ทำพาร์ทไทม์ที่มักจะอยู่กะเดียวกับดิฉันบ่อยๆ เราสนิทกันมากค่ะ ปรึกษาป้าทุกเรื่อง เหมือนเป็นแม่อีกคนเลย แต่อีกไม่นานดิฉันจะลาออกจากร้านแล้วค่ะ การให้ของฝากครั้งนี้ก็เลยเป็นครั้งสุดท้าย

วันต่อมาป้าแกก็เอาขนมญี่ปุ่นและผ้าเช็ดหน้าลายน่ารักมาให้ พร้อมกับโน้ตสั้นๆ ว่า "ขอบคุณสำหรับของฝาก ขนมมีงาดำอยู่ด้วย อร่อยๆมากๆค่ะ คิดว่าจะได้ร่วมงานกันนานกวานี้ แต่ก็น่าเสียดาย ขอให้พยายามกับงานใหม่นะ แล้วก็ได้เจอคนเยอะๆ ตั้งใจเรียน ออกสู่สังคมการทำงานได้อย่างภาคภูมิใจนะ"


การพบและจากกันในช่วงเวลาที่ดิฉันอยู่ญี่ปุ่นมีเกิดขึ้นบ่อยครั้งค่ะ แต่ทุกครั้งฉันจะมีความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยมิตรภาพเสมอค่ะ


อย่าลืมเอา 5 วิธีตี้ซี้เพื่อนญี่ปุ่นไปใช้กันนะคะ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ "ความจริงใจ" ค่ะ คิดง่ายๆว่าเราอยากได้รับจากคนอื่นแบบไหน ก็ขอให้ทำกับเขาแบบนั้นนะคะ  


เครดิตภาพข้อ 1,2,4,5 เอามาจากกล้องตัวเองนะคะ ใครจะนำไปใช้เครดิต gorailovejapanese ด้วยนะจ้ะ



ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com