เคล็ดลับการเรียนคันจิแบบคนญี่ปุ่น-เรียนยังไงไม่ให้เครียด

      เมื่อพูดถึงคำว่า คันจิ แล้วหลายๆคนอาจจะถึงกับต้องเบือนหน้าหนีเลยทีเดียว เพราะคันจินั้นถ้าให้เปรียบก็เป็นเหมือนยาขมของภาษาญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ เป็นส่วนแรกๆที่ผู้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนต้องเจอและมักจะยอมแพ้ให้กับความยากและเยอะของมัน  เพราะนอกจากจะมีลายเส้นที่ยุ่งยาก ความหมายที่หลากหลายแล้ว ยังมีเสียงอ่านที่แตกต่างกันตามแต่ละสถานการณ์อีกด้วยค่ะ และแน่นอนว่าคนไทยอย่างเราที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเลยนั้น ก็ย่อมจะต้องไม่คุ้นเคยเป็นธรรมดา

    แต่ข่าวดีก็คือ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับแค่คนไทยเท่านั้นนะคะ เพราะเเม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังต้องส่ายหัวให้กับความยากของเจ้าตัวอักษรคันจิเลยล่ะค่ะ และนี่ก็พอจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้บ้างว่า "โหย ขนาดเจ้าของภาษายังลำบากเลยอะ" สำหรับมี่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความหวังค่ะ แบบ..อย่างน้อยเราก็ไม่ได้โง่นะ555555 หลังจากเรียนจนท้อมี่ก็ได้คุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นอีกทีถึงความท้อแท้ของเราค่ะ และก็ได้ล้วงเอาความลับของการเรียนคันจิของพวกเขาที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องปวดหัวมาค่ะ แน่นอนว่ามี่จะขอเอาความลับเหล่านั้นมาตีแผ่ในบล็อกนี้!!

​     คันจิ (漢字 : kanji)  อย่างที่หลายๆรู้ๆกันอยู่แล้วว่า คันจิเป็นส่วนหนึ่งของตัวอักษรจีนที่ได้มีการนำมาใช้ในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง และเกิดการตัดแต่งดัดแปลงให้ง่ายต่อการเขียนมากขึ้น ตัวอักษรคันจินี้ได้อยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมานานมาก จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีภาษาใช้เอง ก็ยังคงใช้ภาษาของตัวเองร่วมกับคันจิด้วยความเคยชินอยู่ดี ตัวอักษรคันจิแต่เดิมแล้วมีมากถึง 50,000 ตัวเลยทีเดียวค่ะ มี่พิมพ์ไม่ผิดหรอกนะคะ มันคือ 50,000 ตัวจริงๆ เยอะมากเลยใช่ไหมคะ  แต่ 50,000 ตัวที่ว่านั้น ล้วนแต่เป็นอักษรโบราณที่เราเลิกใช้ไปนานแล้วล่ะค่ะ 

ประเภทของคันจิที่ควรทราบ สามารถแยกได้เป็น 6 ชนิดค่ะ

  1. 象形(しょうけい)เป็นคันจิประเภทที่พื้นฐานที่สุด เป็นอักษรภาพที่มาจากรูปร่างของสิ่งของ อักษรประเภทนี้มีไม่มากนัก แต่ด้วยความที่มีพื้นฐานมาจากภาพทำให้เป็นคันจิประเภทที่จดจำง่ายที่สุดค่ะ
  2. 指事(しじ)อักษรคันจิที่แสดงลักษณะ (นามธรรม) ของสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง เน้นไปที่การบอกตำแหน่งต่างๆค่ะ
  3. 会意(かいい) อักษรคันจิที่เกิดจากการรวมกันของคันจิสองประเภทแรก แล้วทำให้เกิดคำที่มีความหมายใหม่ และออกเสียงแตกต่างไปจากเดิม 
  4. 形声(けいせい)อักษรคันจิ ที่เกิดจากการรวมกันของอักษรที่แสดงรูปร่าง หรือความหมาย และอักษรที่แสดงเสียง เพื่อให้ได้เป็นอักษรคันจิตัวใหม่ที่มีวิธีการจำที่ง่ายขึ้น เพราะในคันจิประเภทนี้ตัวอักษรที่เหมือนกันก็จะออกเสียงคล้ายๆกันค่ะ และตัวอักษรที่แสดงความหมายนั้นก็จะเป็นสิ่งที่บอกเราคร่าวๆถึงความหมายของคันจิตัวนั้นนั่นเองค่ะ ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นคันจิที่มีมากที่สุดนั่นเอง
  5. 転注(てんちゅう) เกิดจากความหมายของคันจิตัวเดิม พัฒนาต่อออกไป เกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้น ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความหมายเดิมอยู่บ้าง หรืออาจจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้นะคะ 
  6. 仮借(かしゃ)เกิดจากการยืมเสียง ทำให้เกิดเป็นความหมายใหม่ หรือผสมเป็นคำๆใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้ทับศัพท์คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ 
      ในตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขจำนวนคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็น 2,136 ตัว เมื่อปี ค.ศ.2010 (จากเดิมมี 1,945 ตัว) โดยในระดับประถมศึกษาเราจะเรียนกันทั้งหมด 1,006 ตัวค่ะ ดูเหมือนเยอะนะคะ แต่จริงๆแล้วมันไม่ได้ลำบากเลยค่ะ เพราะในจำนวนหนึ่งพันกว่าตัวนี้ เรียนมากสุดแค่ 200 ตัวต่อปีเองค่ะ ดูตัวเลขอาจจะยังดูเยอะไปอยู่นะคะ แต่ลองนึกดูว่าที่เรานั่งอ่านนั่งท่องไปสอบอยู่ทุกวันนี้รวมๆแล้วปีละกี่ตัว จำนวนมันต่างกันมากเลยใช่ไหมล่ะคะ นอกจากนี้วิธีการเรียนของเขายังไม่ใช่เเบบยัดๆอัดๆเข้าไป แต่เป็นการค่อยๆซึมซับต่างหากค่ะ​ โดยคันจิประเภทเเรกที่เด็กๆจะได้เรียนจะเป็นคันจิที่มีรากฐานมาจากรูปภาพค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นประเภทที่จดจำง่าย มีจำนวนเส้นไม่เยอะ เหมาะแก่การนำมาทำบทเรียนน่ารักๆสำหรับเด็กๆแล้ว ยังสนุกน่าสนใจอีกด้วย ทำให้เด็กๆอยากเรียน และมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

​   และนี่ก็คือตัวอย่างตารางคันจิของเด็กๆค่ะ มันน่ารักน่าสนใจมากเลยใช่ไหมล่ะคะ ตารางแบบนี้มักจะถูกแปะอยู่ทั่วไปในห้องเรียน ให้เด็กได้เห็นทุกวัน สำหรับบางโรงเรียนก็จะมีแบ่งให้เด็กเรียนอาทิตย์ละประมาณ 5-15 ตัว ตามจำนวนคันจิที่ต้องเรียนในแต่ละระดับชั้น โดยในระดับประถมศึกษา 6 ปีก็ได้มีการแบ่งจำนวนคันจิที่ควรทราบออกเป็น ดังนี้ค่ะ

       ป.1 - 80 ตัว เน้นเกี่ยวกับตัวเลข อวัยวะต่างๆในร่างกาย และคำศัพท์ง่ายๆพวก พระจันทร์ ต้นไม้ เป็นต้น

       ป.2 - 160 ตัว เริ่มเรียนคันจิที่เกี่ยวกับเครือญาติ ปู่ย่าตายายพี่น้อง สีสัน สัตว์ต่างๆ การบอกเวลาแบบง่ายๆ และคำกิริยาทั่วไป

       ป.3 -  200 ตัว อุณหภูมิร้อนหนาว สถานที่ต่างๆรอบตัว เน้นเป็นคำที่เกิดจากการผสมกันของคันจิที่เรียนมาในชั้นป.1และป.2

       ป.4 - 200 ตัว คันจิหลายๆตัวต่อกันเป็นสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล หอศิลป์ สถานฑูต และสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงคำกิริยาที่ยากขึ้น

       ป.5 - 185 ตัว เป็นคันจิที่เน้นใช้งานเกี่ยวกับการเข้าสังคมมากขึ้น เช่น คำศัพท์เกี่ยวกับงานเทศกาลและวัดต่างๆ พิธีการ ที่มักจะมีการทรอดแทรกวัฒนธรรมพื้นเมืองเข้าไปในบทเรียนด้วย

       ป.6 - 181 ตัว เน้นไปที่การนำคันจิทั้งหมดที่เรียนมามาใช้ในการเขียนบทความ หรือเรื่องสั้น โดยคันจิที่เรียนในชั้นนี้จะเป็นคำที่ค่อนข้างสุภาพขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

​    แน่นอนว่าเรียนภาษาก็ต้องขีด ต้องเขียน ต้องท่องเหมือนกัน แต่เคล็ดลับของเขาก็คือ ความสนใจค่ะ ทุกคนจะพยายามทำให้เด็กปักใจเชื่อก่อนว่าคันจิไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือยากอะไรเลย แต่เป็นเรื่องสนุกต่างหาก และนี่ก็คืองานใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันค่ะ คุณครูจะต้องพยายามเล่าเรื่องราวใส่สีสัน และเพลงประกอบโดยใช้ตัวอักษรคันจิที่ยากแสนยากสำหรับเด็กๆนั้นมาเป็นตัวละครในนิทาน ดำเนินเนื้อเรื่องให้สนุกสนาน พูดคำนั้นซ้ำไปซ้ำมา ร้องเพลงที่มีการใช้เสียงคันจิกับเด็กๆทำให้เด็กคุ้นเคยและมีความสุขในการเรียน เพียงเเค่นี้เด็กๆก็จะรู้สึกว่าคันจิเป็นอะไรที่ไม่ได้ยากเลยแถมยังสนุกมากๆอีกด้วย จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องทำเช่นเดียวกันนี้กับลูกๆที่บ้านค่ะ ไม่ใช่แค่การเล่านิทานหรือการร้องเพลงนะคะ แต่ยังรวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆเพื่อช่วยในการจดจำ และการดู youtube ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้การเรียนคันจิน่าสนใจขึ้นค่ะ

​     สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยประมาณป.3-ป.4 การเรียนรู้คันจิโดยการแต่งเรื่องจากภาพก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยได้มากเลยนะคะ เพราะนอกจากจะต้องพยายามหาคันจิที่เรียนไปมาใช้แล้ว ยังต้องฝึกเขียนคำศัพท์คำอื่นๆที่มักจะเกิดขึ้นมาจากตัวอักษรคันจิที่เคยเรียน อีกทั้งยังได้ฝึกฝนการใช้รูปประโยคง่ายๆเพื่อสื่อสารอีกด้วยค่ะ ในเด็กที่โตขึ้น อะไรแบบนี้ก็คงจะไม่ได้ผลแล้ว คุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ก็คงจะไม่มานั่งเล่นด้วย หรือหาวิธีมาหลอกล่อให้เราเรียนหรอกค่ะ ดังนั้นการเรียนด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนเป็นแบบที่ผ่านแอพพลิเคชันช่วยจำอย่างเกมเกี่ยวกับการจับคู่คันจิกับรูปภาพ การเล่นใบ้คำใน flash card รวมถึงการใช้ไฮไลท์ หรือการเอาแผ่นพลาสติกสีปิดตรงที่เป็นคำตอบเอาไว้เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และง่ายต่อการจดจำมากขึ้นอีกด้วยค่ะ

     นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแฟรชการ์ดคันจิหน้าตาน่ารักๆ ที่สามารถช่วยให้เราเรียนรู้คันจิได้อย่างรวดเร็วและสนุกสนานนะคะ สำหรับใครที่อยากดูเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บนี้เลยค่ะhttp://www.1999.co.jp/eng/image/10222750/10/0/1

     อย่างไรก็ตามอะไรที่เราว่ามันยาก จริงๆแล้วมันอาจจะยากเพราะเราไม่มีเวลาให้มัน เราเครียด เรากดดันตัวเองมากไปก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องแบ่งเวลาให้มัน สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้คุ้นเคยและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้อะไรอะไรก็ต้องง่ายขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

.....................................................................................

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก

1.http://www.easyjapanese.org/tattoos.html

2.http://www.tufs.ac.jp/common/mlmc/kyouzai/thailand/thai/kanji/3nen.html

3.http://www.minnanokanji.com/php/knowledge.php?pa_name=kj_types

4.http://nihongo-e-na.com/eng/hint/id332_1.html

5.http://japanr.weebly.com/35883633360935923636.html

6.http://easynihongo.weebly.com/kanji.html

7.http://writer.dek-d.com/yoyopo03/story/viewlongc.php?id=1073953

8.คุณTakaและคุณKatsuki

9.http://saranyapatr.blogspot.com/2014/03/blog-post_19.html

10.http://www.1999.co.jp/eng/image/10222750/10/0/1

11.http://anngle.org/th/j-study/speak-japanese/family-vocab.html


ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com