t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

ประเภทของพลุญี่ปุ่น

ประเภทของพลุญี่ปุ่น

By , Sunday, 03 July 2016

​  ฤดูร้อน ฤดูรัก>3

    เชื่อว่าหลายๆคนต้องเคยเห็นฉากรักโรแมนติกที่พระเอกนางเอกสวมยูกาตะสีหวาาน เดินจูงมือกันไปเที่ยวเทศกาลต่างๆ ต่อด้วยการไปนั่งดูดอกไม้ไฟที่สุดแสนจะอลังการในเทศกาลดอกไม้ไฟ (Hanabi) ริมแม่น้ำสายงามอย่างแน่นอน วันนี้มี่จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก กับสถานที่ชมดอกไม้ไฟยอดฮิตทั่วประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ

​        เมื่อพูดถึงฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับแรกคืออะไรกันคะ? ว่ายน้ำ? น้ำแข็งใส? ทะเล? หรือว่าน้ำผลไม้ปั่นเย็นๆ? ไม่ว่าไฮไลท์ในฤดูร้อนของไทยจะเป็นอะไร รับรองว่าที่ญี่ปุ่นก็เด็ดไม่แพ้กันแน่ๆค่ะ เพราะที่ญี่ปุ่นเค้ามีดอกไม้ไฟค่ะ!! แล้วก็ไม่ใช่แค่งานดอกไม้ไฟกระจอกๆนะคะ แต่เป็นเทศกาลชมดอกไม้ไฟเลยละค่ะ โดยในเทศกาลนี้จะเริ่มจัดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงประมาณกลางเดือนสิงหาคมเลยละค่ะ ถือว่าจัดกันยาวนานมากๆ ไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลยทีเดียวนะคะ และแน่นอนว่าเทศกาลที่ยิ่งใหญ่อลังการแบบนี้ก็ต้องมีที่มาที่ไปอย่างแน่นอน แต่จะเป็นอะไรนั้นต้องลองดูค่ะ

​.....................................................................

      ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องของดอกไม้ไฟในญี่ปุ่น เรามาอ่านทฤษฎีเกี่ยวกับการต้นกำเนิดของดอกไม้ไฟกันนะคะ ก็มีด้วยกันอยู่ 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีประทัด และทฤษฎีดินปืน ซึ่งในภายหลังถึงแม้จะยังไม่สามารถหาหลักฐานที่จะชี้ชัดได้ว่ามาจากทฤษฎีใดกันแน่ แต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการเล่าต่อๆกันมาของผู้ใหญ่ในชุมชน ก็สามารถพูดได้ว่า พลุนั้นมีรากฐานมาจากประเทศจีน จากนั้นก็ผ่านไปยังประเทศอิตาลี และได้รับการพัฒนาที่ประเทศโปแลนด์และอังกฤษ

      ในปี ค.ศ. 1543 โลกก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องปืนและดินปืนจนผ่านมาถึงเกาะทะเนะกะ และพอช่วงปี 1613 พ่อค้าชาวอังกฤษก็ได้แสดงดอกไม้ไฟให้ท่านโทคุงาวะ อิเอะยาสุ ผู้เป็นโชกุนคนเเรกของยุคเอโดะได้ชม ท่านก็ได้เห็นถึงความสวยงาม และประทับใจในการแสดงนั้นมาก ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้ประวัติศาสตร์ของดอกไม้ไฟในญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขึ้น โดยดอกไม้ไฟที่ท่านได้ชมในสมัยนั้นใช้เพียงแค่ต้นไผ่มาตัด แล้วนำเอาผงสีดำของดินปืนมาอัดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ให้แน่นและจุดไฟที่ปลายกระบอกด้านบนจนเกิดเป็นประกายไฟที่เหลืองส้มพวยพุ่งออกมามีลักษณะคล้ายน้ำพุ จึงได้ชื่อว่าพลุไฟ นับแต่นั้นมาพลุไฟก็ได้มาการนำเข้าจากต่างประเทศ และพยายามคิดค้นแบบใหม่ๆออกมาอย่างไม่ขาดสาย จนถึงในปัจจุบันประกายไฟไร้รูปร่างธรรมดาๆ ก็ได้กลายเป็นสีสันแห่งฤดูร้อนของดินแดนอาทิตย์อุทัยไปเสียแล้ว

​   สำหรับตอนนี้ก็มีพลุอยู่ 8 ชนิดด้วยกันที่นิยมใช้กันในงานเทศกาลต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่น ถ้าใครคิดจะไปก็อยากให้มาทำความรู้จักพลุยอดฮิตทั้ง 8 ชนิดกันก่อนเลยค่าา

1.ดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum) ที่จะมีสีสันสดใส และมีลักษณะเป็นวงกลม มีจุดๆอยู่รอบๆ มองดูคล้ายกลีบของดอกเบญจมาศ

2.ต้นหลิว (Willow) คล้ายกับแบบดอกเบญจมาศแต่ประกายไฟจะตกลงเป็นทางยาวคล้ายใบของต้นหลิวก่อน แล้วค่อยดับ

​3.ผึ้ง (Bee) ลูกไฟประเภทนี้จะมีขนาดเล็ก ไม่มีทิศทางการวิ่งที่แน่นอน บางทีอาจมีเสียงแหลมเล็กคล้ายผึ้งในขณะที่ลูกไฟวิ่ง มักใช้ในการดึงดูดความสนใจ

​4.พันล้อ (Thousand Wheels) เป็นทรงกลมเล็กๆมากมาย ถูกยิงขึ้นพร้อมๆกันอย่างต่อเนื่อง มักทำให้เกิดภาพที่ติดตาราวกับว่ามีจำนวนนับพัน

​5.จานบิน หรือดาวพฤหัส (UFO/Jupiter) เป็นการรวมกันของดอกไม้ไฟ 2 ชนิด ที่จะถูกเล็งให้ขึ้นไประเบิดในตำแหน่งที่เหมาะสมจนเกิดเป็นวงแหวน คล้ายกับวงแหวนของดาวพฤหัส

​6.รอยยิ้ม (Smile) มีการผสมผสานกับของดอกไม้ไฟหลายชนิด จนเกิดเป็นหน้ายิ้มขึ้นมา เป็นดอกไม้ไฟที่สามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆได้ตลอดทั้งงาน

7.น้ำตกไนแองการา (Niagara) ดอกไม้ไฟหลายชุดที่เมื่อถูกยิงขึ้นบนท้องฟ้าแล้วจะสามารถทำให้ฟ้าที่มืดมิด ส่องสว่างได้ ด้วยลักษณะที่่จะร่วงลงเป็นสายยาว คล้ายน้ำตกไนแองการาสีทองรินไหลจากท้องฟ้าลงมา

​8.ดอกไม้ไฟเป็นชุด (Starmine) การจุดดอกไม้ไฟทุกชนิดพร้อมๆกัน เป็นช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดการผสมผสานกันเองของดอกไม้ไฟแต่ละชนิด ก่อให้เกิดสีสันสดใสตระการตากระจายอยู่เต็มท้องฟ้า เป็นการจุดปิดงานที่จะทำให้ไม่มีใครสามารถลืมช่วงเวลานี้ได้เลย

​และเมื่อทุกคนรู้จักชนิดของพลุกันไปแล้ว ในบล็อกต่อไปจะเป็นการแนะนำสถานที่ดูพลุชื่อดังของญี่ปุ่นนะคะ ติดตามกันได้ค่าาาา

...............................................................................................

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก

1.http://www.marumura.com/news/?id=2870

2.http://anngle.org/th/j-culture/culture/hanabi.html

3.http://blog.4gpocketwifi.com/8-firework-festival-in-japan-2016/

4.http://www.jatschool.com/index.php?route=module/pageview&path=1343&catagory=8#.V3j2A0aLRhE

5.WonderlandJapan WAttention

บทความล่าสุด