t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

7 เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างประหยัด

7 เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างประหยัด

By , Wednesday, 05 April 2017


ไปญี่ปุ่นทีไร ถังแตกทุกที เป็นกันมั้ยคะ อะไรๆ ก็น่าซื้อไปซะทุกอย่าง อาหารเอย ขนมเอย ช็อปแหลกเอย วันนี้ได้ฤกษ์งามยามดี เพราะเพิ่งกลับจากทริปญี่ปุ่นเหมือนกัน เลยอยากมาแชร์เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยคุณเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างประหยัด "ประหยัด" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะต้องอดมื้อกินมื้อ หรือไม่ช็อปปิ้งซื้อของอะไรเลยนะคะ ทุกอย่างทำไปอย่างปกติวิถีชีวิตของเรา กินข้าวครบ 3 มื้อแน่นอนค่ะ ซึ่งทุกวิธีเราลองใช้มาหมดแล้ว นับว่าได้ผลมากๆ แถมเหลือเงินกลับบ้านเอาไว้ไปโปะไว้ทริปหน้าอีกด้วย จะมีวิธีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ



1.รู้ตัวว่าอยากเปย์ให้กับอะไร


การไปเที่ยวนั้น แน่นอนทุกคนต้องมีจุดมุ่งหมายของตัวเองอยู่แล้วเนอะ ไม่ว่าจะเป็นสายกิน สายเที่ยว สายช็อป สายเปย์ไอดอล สายเปย์อะนิเมะ ฯลฯ เราก็ทุ่มเงินไปตรงส่วนนั้น เช่น เราเป็นสายเที่ยว + สายเปย์ไอดอล ดังนั้นพวกค่าเข้าสถานที่เที่ยว ค่าซื้อซิงเกิ้ล อัลบั้ม ก็จะทุ่มสุดตัว แล้วไปลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนค่ากิน ค่าที่พักแทน ในบางมื้อก็ซื้อของในมินิมาร์ท หรือรอตอนดึกๆ สัก 2- 3 ทุ่ม อาหารในซุปเปอร์ หรือมินิมาร์ทก็จะมีติดป้ายลดราคา เป็นต้น

ตอนประมาณ 2 – 3 ทุ่มช่วงร้านใกล้ๆ ปิดตามสถานีรถไฟ จะเริ่มติดป้ายลดราคาอาหาร


แต่ไม่ได้จะกินแต่ในมินิมาร์ททุกมื้อนะคะ อาหารดีๆ หรูๆ ก็กินบ้างเหมือนกัน พูดง่ายๆ คือในแต่วัน เราจะเปย์ให้กับอะไร ก็ต้องมีสิ่งที่ถ่วงดุลกันอยู่ อันนึงจ่ายมาก อันนึงจ่ายน้อย เช่น วันนี้อยากกินปูยักษ์โอซาก้าจากร้านชื่อดัง อยากเข้าร้านคาเฟ่ฟรุ้งฟริ้ง เราก็อาจจะลดการช็อปปิ้งลง เป็นต้น พูดง่ายๆ แบ่งสมดุลของเงินในแต่ละวันให้ดีนะจ้ะ



2.แบ่งเงินเป็นรายวัน อย่าเอาเงินก้อนใหญ่ใส่กระเป๋าสตางค์

สมมติว่าเราแลกเงินไป 200,000 เยน แล้วเราเอาทั้งหมดใส่กระเป๋าสตางค์เลย เท่ากับว่ามีแบ๊งค์ 10,000 เยน ถึง 20ใบ !! ถ้าหยิบใช้ไปเรื่อยๆ เพราะเห็นว่ามีเยอะละก็ รู้ตัวอีกทีอาจจะเหลือแบงก์ 10,000 เยน อยู่ 2 ใบก็เป็นได้


 วิธีการแก้ปัญหา "การหยิบไปเรื่อยๆ" นั้น เราต้องแบ่งเงินออกมาหลายกระเป๋าสตางค์ (อาจจะใส่ในซอง หรือถุงซิปล็อคก็ได้ สะดวกดี)


อันดับแรก หักค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแน่ๆ ก่อน เช่น ค่าที่พัก ค่าซื้อพาสการเดินทางต่างๆ เป็นต้น


ส่วนที่เหลืออยู่ ก็จะเป็นค่ากิน ค่าซื้อของ ค่าเข้าสถานที่ต่างๆ ค่าเดินทางในส่วนที่ไม่ได้ใช้พาสแต่ก็อย่าเพิ่งเอาจำนวนวันมาหารละ เพราะเราต้องมีเงินฉุกเฉินด้วย ดังนั้นอาจจะตีคร่าวๆ ว่า วันละไม่เกิน 5,000-10,000 เยน

และส่วนสุดท้าย คือ เงินฉุกเฉิน เช่น อาจจะตกรถ ต้องเปลี่ยนรอบแล้วต้องเพิ่มเงิน เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย ต้องซื้อยา เงินส่วนนี้เก็บไว้ในส่วนลึกสุดของกระเป๋าเลย ให้เหมือนลืมๆ ไปเลยว่ามีเงินส่วนนี้ ถ้าเราไม่ต้องใช้ ก็ถือว่าโชคดี มีเงินเหลือๆ กลับไทย เอาไว้ไปโปะทริปหน้าอีก


3.เงินกองกลาง

สำหรับคนที่ไปเที่ยวหลายๆ คน การมีเงินกองกลางก็นับว่าเป็นข้อดีมากๆ ทำให้เราไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์ออกมาบ่อย แน่นอนว่าเราต้องเลือกเพื่อนที่บริหารเงินเก่งที่สุดเป็นคนเก็บเงินกองกลาง สำหรับใช้จ่ายในส่วนที่ทุกคนต้องออกเงินเท่าๆ กัน เช่น ค่าเข้าสถานที่ ค่าซื้อพาสการเดินทาง เป็นต้น



ยกตัวอย่างจากทริปของเราเอง (ซึ่งเราเองแหละที่ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก) ทริป 10 วัน เริ่มวันแรกก็เก็บเงินกองกลางมาคนละ 25,000 เยน มีทั้งหมด 7 คน จะได้เงิน 175,000 เยน เงินส่วนนี้เราใช้จ่ายค่าอาหาร (ทุกคนโอเคที่จะหารเท่ากันทุกมื้อ) ค่าเข้าสถานที่ ค่าซื้อบัตรพาสการเดินทางต่างๆ จนจบทริป เราเหลือเงินประมาณ 17,000 เยน แปลว่าเราใช้เงินคนละประมาณ 2,250 เยนต่อวันเท่านั้น! ถือว่าน้อยมากๆ แถมเงินในกระเป๋าสตางค์ตัวเองก็ยังอยู่ครบ เพราะแทบไม่ได้หยิบเงินในกระเป๋าตัวเองขึ้นมาเลยไงละ!


4.ที่พัก

เรื่องของที่พัก จริงๆ พูดยาก เพราะมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เลือกที่พักแตกต่างกัน แต่หลักการง่ายๆ ที่เราต้องตอบให้ได้ก็คือ ผู้ร่วมทริปของเราเป็นใคร มีงบประมาณเท่าไร การเดินทางไปที่พักสะดวกหรือไม่ ซึ่งที่พักในญี่ปุ่นก็มีหลายหลากมากมาย เช่น โรงแรม โฮลเทล บ้านพัก เรียวกัง แคปซูล ฯลฯ โดยการจองผ่านเว็บไซต์ ซึ่งบางทีในเว็บไซต์จะมีการลดราคาห้องพักอีกด้วย ดังนั้นถ้าเห็นและตัดสินใจได้ ก็ควรจะรีบจองเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลงนะคะ



ยกตัวอย่างจากทริปที่ผ่านๆ มาของเรา

-ไปกับเพื่อนๆ ลุยๆ ก็นอนโฮสเทลกันแบบ dorm ยิ่งถ้าไปเยอะๆ จนเท่ากับจำนวนห้องของ dorm ในโฮสเทลก็จะยิ่งถูก เช่น 4 คน6 คน 8 คน ส่วนใหญ่จะตกราคาต่อคนต่อคืน ไม่เกิน 1,000 บาท (ประมาณ 3,000เยน)

- ไปกับครอบครัว 7 คน และมีผู้สูงอายุด้วย จะให้มานอนโฮสเทล ก็คงจะไม่สะดวกนัก เพราะคับแคบ สิ่งอำนวยความสะดวกน้อย เช่น ห้องน้ำต้องเดินไกล ครั้นจะให้ไปนอนโรงแรม ก็แพงเวอร์ แถมนอนได้ห้องละ 2-3 คนเท่านั้น ดูแลทุกคนในครอบครัวได้ไม่ทั่วถึง เพราะแต่ละคนก็ไม่เคยมาญี่ปุ่นเลย เราเลยเลือก Airbnb จองเป็นบ้านพักทั้งหลัง ฟังดูเหมือนจะแพง แต่จริงๆ ราคาต่อคนต่อคน ประมาณ 1,200 บาท เท่านั้น แพงกว่าโฮลเทลนิดหน่อย แต่ถือว่าแลกกับความสะดวกสบายก็นับว่าคุ้มค่ามากๆ



5.ศึกษาพาสการเดินทางต่างๆ

ก่อนการศึกษาพาสการเดินทาง เราต้องวางแผนทริปให้เรียบร้อยก่อน อย่างน้อยๆ ต้องตอบให้ได้ว่าจะไปเมืองอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างง่ายๆ จากทริปเราเองเช่นเดิม เราจะไปฝั่งคันไซ ได้แก่ โอซาก้า เกียวโต นารา โกเบ ฮิเมจิ แล้วนั่งชินคันเซ็นไปเที่ยวแถบโตเกียวต่อ หลายคนอาจจะบอกว่า ซื้อ JR PASS ไปเลยสิ พาสที่เขาฮิตๆ กัน แต่ลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางดูคร่าวๆ แล้วพบว่า หากไม่ได้นั่งชินคันเซ็นเกิน 2 รอบ จะไม่มีทางใช้พาสนี้คุ้มเลย รวมทั้งฝั่งคันไซก็มีพาสของแต่ละเมืองอยู่แล้ว ซึ่งประหยัดกว่าการซื้อ JR PASS มาก ดังนั้นขอสรุปพาสเมืองดังยอดฮิตแบบคร่าวๆ ดังนี้



-JR PASS ถ้านั่งชินกันเซ็นเกิน 2 รอบ ก็ซื้อเลย!

-Osaka มี Osaka Amazing Pass 1-day , 2-days สำหรับเที่ยวรอบๆ โอซาก้าโดยใช้รถไฟใต้ดินรวมทั้งฟรีค่าเข้าสถานที่ต่างๆ เช่น ปราสาทโอซาก้า ,Umeda sky Building , Tombori River Cruise,HEP FIVE Ferris Wheel ,Osaka Castle Museum และใช้เป็นส่วนลดในการเข้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอซาก้า (Kaiyukan) ได้อีกด้วย

-Kyoto มีพาสรถบัสของเมือง Kyoto Sightseeing Pass เพียงแค่ 500 เยนเท่านั้น (ขึ้นลงรถบัส 1 ครั้งใช้เงินประมาณ 240 เยน หากขึ้นเกิน 3 รอบ ก็คุ้มแน่นอน ซึ่งต้องเกินอยู่แล้วละใน 1 วัน)

-หากเราไปเที่ยวถึงเมืองฮิเมจิ เราสามารถใช้ JR west area pass (มีแบบ 1 – 4 days) ได้ ซึ่งสามารถไปเมืองเกียวโต นารา โกเบ รวมทั้งสนามบินคันไซได้อีกด้วย ถ้าจะให้คุ้มสุดๆ คือ แบบ 3 days และ 4 days พูดง่ายๆ คือไปเมืองที่กล่าวมาวันละเมืองนั่นเอง ราคาพาส คือ 3,500 เยน แต่หากเราเดินทางโดยไม่ใช้พาสจะใช้เงินประมาณเกือบ 6,000 เยน ดังนั้นจะประหยัดได้ถึง 2,000 เยนเลยละ!

แถบเมืองใกล้ๆ โตเกียว

-Kawagoe Discount pass 970 เยน (รวมค่าบัส)

-Kawakuchiko Lake – Fuji มีบัตร Retro R coupon 2,360 เยน (บัส+กระเช้า+เรือ)

-Kamakura-Ennoshima 1,470 เยน (หากเดินทางไปกลับโดยไม่ใช้พาส จะตกประมาณ 1,800 เยน) ประหยัด 400 เยน! 

Enoshima-Kamakura Free Pass

พาสที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อย ยังมีพาสอื่นๆ อีกมากมาย ที่เราควรศึกษาก่อนการไป เพื่อให้เหมาะสมกับทริปของเราเองมากที่สุด


6.จองล่วงหน้า

ของบางอย่างต้องจองล่วงหน้าเพื่อให้ได้ราคาถูกลง เมื่อเราจัดแผนการท่องเที่ยวเสร็จแล้ว ลองเข้าเว็บ official ต่างๆ ของที่ที่เราจะไป เราอาจจะได้เห็นว่ามีส่วนลดอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างจากทริปของเราเอง สืบเนื่องจากข้อที่ 4 หลังจากที่เราศึกษาว่ามีพาสอะไรที่เหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยวของเราแล้ว ซึ่งก็คือ JR west area pass เราก็เข้าไปอ่านข้อกำหนดต่างๆ ในเว็บ official ว่าซื้อที่ไหน ต้องทำอย่างไรบ้าง ก็พบว่า หากจองล่วงหน้าจากนอกประเทศญี่ปุ่น จะได้ซื้อได้ในราคาถูกลง จาก 3,500 เยน  เหลือ 3,200 เยน การสั่งจองล่วงหน้า ก็ง่ายๆ เพียงแค่กรอกชื่อ อีเมล พาสที่ต้องการซื้อ สถานที่รับพาส แล้วเค้าจะส่งอีเมลมายืนยัน เราก็แค่ปรินท์อีเมลออกมาแล้วไปยื่นให้ที่เคาน์เตอร์ที่เราเลือกไว้ เราก็จะได้พาสที่ถูกลงแล้ว

JR west area pass สีส้มคือราคาที่ซื้อ (สั่งจอง) นอกประเทศญี่ปุ่น สีเทาคือราคาที่ซื้อในประเทศญี่ปุ่น

ยกตัวอย่างอีก ครั้งนี้เราตั้งใจว่าจะไปใส่ชุดกิโมโนเดินในเกียวโต เราก็หาร้าน หาเว็บเอาไว้ ในเว็บก็มีเขียนตั้งแต่หน้าแรกเลยว่า หากจองล่วงหน้าจะลดราคา จาก 5,000 เยน เหลือ 3,500 เยน ถูกลงเห็นๆ แบบนี้ก็กดจองเลย!


หรือบางอย่าง หากจองล่วงหน้าก็ได้ฟรีเลย เช่น ที่สนามบินนาริตะ มีการจัดทัวร์อาสาสมัครไว้บริการนักท่องเที่ยว เพื่อเที่ยวในเมืองนาริตะ หากเราจองล่วงหน้า และใช้ไกด์นำ เราก็จะได้เข้า Boso No Mura ฟรี แถมยังได้ใส่ชุดกิโมโน หรือชุดญี่ปุ่นอื่นๆ ฟรีอีกด้วย! (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบล็อก "เที่ยวแถวสนามบินนาริตะ อย่างง่ายๆ") เสียดายที่ทริปนี้เราไม่ได้ลงเครื่องที่นาริตะ เลยอดเลย ไม่งั้นคราวหน้าต้องจัดให้ได้เลยละ



7.ใช้บัตร IC Card เพื่อให้ไม่เหลือเศษเหรียญ


บัตร IC Card เช่น บัตร SUICA PASMO ICOCA เป็นบัตรเติมเงินที่ใช้ขึ้นรถไฟ รถบัส ซื้อของในมินิมาร์ท (คล้ายๆ บัตรแรทบิทของ รถไฟฟ้าบ้านเรา) บัตรนี้มีประโยชน์มากๆ กับการที่เราไม่ต้องหยิบจับเงินสดเลย เพียงแค่ติ๊ดบัตรเท่านั้น ซึ่งค่าเดินทางก็จะถูกกว่าการซื้อตั๋วเที่ยวเดียว รวมทั้งการซื้อของต่างๆ ยังไม่ต้องมีเศษเหรียญอีกด้วย เพราะธนาคารและร้านรับแลกเงินส่วนใหญ่ จะไม่รับแลกเหรียญคืนเป็นเงินไทย ดังนั้นถ้ามีเหรียญเยอะมากๆ ก็เท่ากับว่าเงินเราจะกลายเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ต้องเก็บไว้ใช้ในทริปหน้านะจ้ะ ส่วนวิธีการทำบัตร IC Card สามารถซื้อได้ที่สถานีรถไฟ หรือตู้ขายบัตรอัตโนมัติ



สำหรับ 7 วิธีข้างต้น เป็นเทคนิคที่เราใช้เองทั้งหมด นำมาแบ่งปันประสบการณ์กัน ลองเอาไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราเองดูนะคะ และหากใครยังมีวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ก็อย่าลืมโพสบอกกันที่หน้าเพจ I love Japan กันด้วยนะ ทริปหน้าเราจะได้เอาไปใช้บ้าง ^_^

บทความล่าสุด