t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ใช้งบเท่าไหร่นะ

เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ใช้งบเท่าไหร่นะ

By , Friday, 10 March 2017

​เฮลโล่วววววววววว ทรายกลับมาแล้ววววว รอกันนานไหมค้าาาาาา ヾ(〃^∇^)ノ

....

........

...........

.................

เอิ่ม อาจรอนานจนไม่มีแรงตอบ ฮะฮะฮะ ขอโทษที่หายไปนานนะคะ ด้วยกิจอันเป็นภาระมากมายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่ได้ว่างมาเขียนเรื่องราวน่าสนใจให้ทุกคนได้อ่านกันเลย

แต่ช่วงนี้หน้าเฟซบุ๊กทราย เต็มไปด้วยตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชั่นมากมาย สายการบินทั้งฟูลเซอร์วิส (Full Service) ทั้งแบบประหยัด (Low Cost) ก็ขยันทำโปรออกมายั่วกันเหลือเกิน จนบางคนจะ จะ จะกดไปหลายครั้งแต่อาจจะยั้งใจอยู่เนื่องจากเพื่อนไม่คบ...ผัวะ...ค่ะ ทรายไม่เล่นแล้วค่ะ ผลการสำรวจจากสถาบันที่น่าเชื่อถือที่สุดในชีวิตทราย นั่นคือ เสียงจากคนรอบข้างนี่แหละ ฮ่าฮ่า .... บอกว่า ที่ไม่กล้ากดสักที ก็เพราะ ไม่มั่นใจว่ามันต้องเสียหายกับทริปนี้เท่าไหร่??


จากเสียงของบุคคลรอบตัวทราย ทั้งเพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนในเฟซ ที่มักยิงเป็นคำถามแรกๆอยู่ตลอดเวลาก็มักวนอยู่ที่ค่าใช้จ่ายนี่แหละค่ะ โดยเฉพาะมือใหม่หัดหลง​ (รัก) ประเทศนี้ครั้งแรกแล้วด้วย ให้คิดยังไง มันก็คิดมโนเอาไม่ถูกจริงๆนั่นแหละ 


และในเมื่อโดนถามทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องเที่ยวญี่ปุ่นขนาดนี้ ทั้งยังเคยเป็นผู้กล้าหาญชาญชัย ด้นสดตั้งแต่ไปญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จึงขอมาบอกเคล็ดลับการกะงบประมาณการไปหาความสุขที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยให้ทุกคนได้มีแนวทางกันค่ะ 


1. ตั๋วเครื่องบินยิ่งถูก งบยิ่งเหลือ!!!!  


นั่นก็เพราะว่า ราคาค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นปัจจัยหลักที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตการท่องเที่ยวได้เกือบจะ 100 % เลยทีเดียว ปัจจุบันนี้ ตั๋วเครื่องบินที่ออกจากไทย ไปยังเมืองต่างๆของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคไหนก็ตาม ราคาที่มักจะเห็นสายการบินจัดโปรโมชั่นกันบ่อยๆ มักจะเริ่มต้นที่ 7-8 พันบาท สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ บินตรง หรือแม้แต่สายการบินฟูลเซอร์วิส แต่แวะพัก 1 ต่อ ก็เจอราคานี้ได้ไม่ยากค่ะ เดือนๆหนึ่ง สายการบินแข่งกันปล่อยโปรมาเสนอเราสุดฤทธิ์


แต่ว่า อย่าเอาแต่จ้องราคา จนลืมช่วงเวลาที่เราสามารถเดินทางไปได้น้าาา บางครั้งกดได้ราคาแสนจะถูก ใจสั่นระริก ความคิดในหัวไปไกลซะจนเห็นภาพตัวเอง ยืนเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นเรียบร้อย ปรากฏว่า ไปไม่ได้จ้าาาา ติดนู่น ติดนี่ แม้กระทั่งบางครั้งกดๆไป ลืมดูว่าช่วงเวลาที่กดไว้แสนสั้น ก็ใจเหี่ยวกันไป สตรองกันต่อไปค่าาาา o(╥﹏╥)o


และเพื่อเป็นการลดปัญหาอาการใจเหี่ยว นอกจากจะตามข่าวสารโปรโมชั่นตามเพจต่างๆ ที่หวังอยากให้เราได้ไปเที่ยวในราคาแสนถูกแล้ว การใช้เว็บไซต์ประเภทที่ทำหน้าที่ช่วยคัดราคา ในช่วงเวลาที่เราต้องการจากเว็บเอเจนซี่ต่างๆ มาให้เราได้นี่มันดีต่อใจจริงๆค่ะ แถมยังตั้งให้คอยส่งราคามาแจ้งเรา ในเวลาที่เราต้องการได้ตลอดอีกด้วย


เว็บไซต์ที่ทรายใช้ส่วนใหญ่ ก็จะเป็น skyscanner,  cheaptickets หรือแม้แต่ Google เองก็ใช้ได้นะคะ ซึ่งขอกระซิบว่า ทรายเจอโปรค่ายแดงไม่เสียสักบาท จาก Google บ่อยมาก

การใช้ Google ทำได้ง่ายๆค่ะ พิมพ์ Google flight ในช่องค้นหา อากู๋ที่คุ้นเคย ก็จะแปลงร่างเป็นศูนย์กลางค้นหาตั๋วเครื่องบินทันที แถมยังตั้งให้แจ้งเตือนราคาได้อีกด้วย!!!! เฮ้ยยยยย มันดี ♪ ♬ ヾ(´︶`♡)ノ ♬ ♪



2. ที่พักดี ราคาไม่จำเป็นต้องแรง 


หลายคนเมื่อผ่านด่านการจองตั๋ว จะสามารถมองหาที่พักได้ง่ายขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีธงในใจแล้วว่าจุดหมายปลายทางแต่ละคืนฝากร่างไว้ที่เมืองไหนบ้าง พอจะจองก็จะกะงบประมาณได้ถูกเพราะเห็นราคากันชัดๆ ถ้าเป็นโรงแรมที่ดาวไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่ราคาต่อห้อง ต่อคืน ก็จะเริ่มที่ประมาณ 2-3 พันบาท 


แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้จองตั๋วล่ะ.... (・・。)ゞ

ถ้าเป็นทริปลุยเดียว สายเปลี่ยว หรือมีกันแต่เพื่อนๆ สายปาร์ตี้ แล้วกำลังมองที่พักจำพวกโฮสเทลอยู่ละก็ ตั้งงบไว้เลยค่ะ คืนละ 1,000 บาท ถึงแม้ว่าโฮสเทลบางที่อาจราคาต่ำกว่าคืนละ 1,000 บาท แต่ก็มีบางที่ที่ราคาตกอยู่ที่ 1 พันต้นๆ จองไปหลายที่ หลายคืน ก็เฉลี่ยออกมาประมาณนี้แหละค่ะ จะนอน 5 คืน ก็คูณไปง่ายๆ ตั้งไว้เลย 5,000 บาท ง่ายยยยยย แค่เนียะ เงินก็เหลือเอาไปทำอย่างอื่นต่อแล้ว อิอิ


ใครคิดว่าอยากลองนอนโฮสเทล แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองตามไปอ่านบทความเก่าทรายได้นะคะ กับ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เลือก Hostel ไม่มีพลาด รับรองว่า จองง่าย นอนง่าย ได้เพื่อนเยอะ หรืออาจได้เยอะกว่าเพื่อนก็เป็นไปได้นะ ฮาาาา (♥ω♥*)


3. เลือกพาสให้เหมาะ เดินทางสะดวก จ่ายประหยัด 

ก็อย่างที่รู้กันแหละว่า ญี่ปุ่นแลนด์นั้นมีความสนุกสนานในการออกพาส หรือเรียกง่ายๆ บ้านๆว่าตั๋วรถไฟแบบเหมาๆ

เจ้าตั๋วพาสพวกนี้ มีทั้งรุ่นเล็ก ใช้กันภายในบริเวณจังหวัด ใช้แบบพิเศษวันหยุด จุ๋มจิ๋มน่ารัก รุ่นกลางที่ใช้กันข้ามจังหวัดแต่ไม่ข้ามภาค ไปจนถึงรุ่นใหญ่ที่เหมาให้ขึ้นได้ทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เจ้าพวกรุ่นกลาง รุ่นใหญ่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ถ้ามั่นใจว่า จะเที่ยวข้ามภาค เก็บญี่ปุ่นแบบฟาสแอนด์ฟีวเรียส แต่ที่จะเป็นปัญหา ก็เจ้ารุ่นเล็กนี่แหละค่ะ มีซอยย่อย ยุบยิบไปหมด ใครเพิ่งจะไปญี่ปุ่นครั้งแรก ถึงขั้นสติกระเจิงกันก็มี

หลักการคือให้ลองกำหนดแผนการเที่ยวคร่าวๆก่อนว่า ตลอดระยะเวลาเราอยากไปไหนบ้าง ไม่ต้องถึงขึ้นลงตารางเวลาก็ได้นะคะ พอเรารู้คร่าวๆ แล้ว ทีนี้ก็เอาไปเปรียบเทียบกับพาสที่เป็นผู้เข้าชิงทั้งหลาย อันไหนครอบคลุมกว่าก็อันนั้นโลดค่ะ



หลายคนซื้อมา พาสใหญ่เกินความจำเป็น ก็เท่ากับเสียเงินไปฟรีๆ เพราะฉะนั้น การเลือกพาสให้เหมาะกับทริปนี่เป็นตัวประหยัดได้ตัวนึงเลยจริงๆนะคะ

แต่หากใครชินกับการขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแล้ว ถ้าวางแผนเที่ยวคร่าวๆเสร็จแล้ว ลองเอาไปเทียบการเดินทางเป็นรายเที่ยวจาก hyperdia ดูก็ได้นะคะ บางครั้งจะพบว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อพาส ก็ประหยัดเงินได้มากกว่าเช่นกันค่ะ ส่วนมือใหม่ ใช้พาสเหมาๆไปเถอะค่ะ เข้าผิด ออกถูก ยังไงก็อุ่นใจว่าเหมามาแล้ว 



ผ่านเคล็ดลับการประเมินงบประมาณมา 3 ข้อ พอจะนึกภาพออกกันไหมคะว่า จะกะงบประมาณการเดินทางไปดื่มด่ำธรรมชาติ กินตัวแตก ช็อปกระเจิง ยังไงไม่ให้กระเป๋าฉีก หากวางแผนได้ดีๆทรายว่า อาจมีเงินเหลือกลับไทยมาแล้ว จองตั๋วรอบถัดไปได้ทันทีเลยก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ อิอิ 

ส่วนเรื่องอาหารการกิน กับราคาสินค้า หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วมันกะยังไงดีล่ะ 2 ส่วนนี้ทรายขอไม่กล่าวถึงนะคะ เนื่องจากอันนี้มัน ทางใคร ทางมันจริงๆ ใครเป็นสายกิน คุมงบอื่นๆได้หมด มาใจแตกกับเรื่องนี้ ทรายก็เจอมาบ่อย 


แต่หากจะให้ทรายประมาณเป็นเลขกลมๆ สำหรับ 1 วันที่รวมทั้งงบกิน งบเที่ยว แล้วละก็ อาหารมื้อธรรมดาๆในร้านอาหารทั่วไป มื้อนึง ตกอยู่ที่ 1,000 เยน/มื้อ ถ้าครบ 3 มื้อ ก็ 3,000 เยน เบ็ตเสร็จ ถ้าไม่คิดในส่วนของค่าที่พัก กับค่าตั๋วต่างๆ ที่เราจ่ายเหมาไปแล้วละก็ วันๆนึง 5,000 เยน หรือ 1,500 บาท (ทรายคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 0.30 บาทนะคะ) ส่วนตัวเคยไปลุยๆอยู่ 9 วัน เสียหายไป 35,000 บาท แบบไม่รวมค่าเครื่องนะ กินเล่นตามใจเต็มที่ แต่ทรายต้องขอบอกว่า ไม่ใช่ทั้งสายกิน และสายช็อปนะคะ เป็นพวกชอบพาตัวเองไปปะปนกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆซะมากกว่า แฮ่ 

แต่นั่นแหละ ปกติมันมักไม่ปกตินะคะ เพราะนั่นทรายแค่ประมาณยอดค่าใช้จ่ายในการกินมื้อหลัก มื้อธรรมดา ไม่มีซื้อขนม ไม่มีช็อปปิ้ง ไม่แพ้ทางของกินเล่นตลอดทางนะ


ดังนั้น ถ้าคำนวณคร่าวๆแล้ว เครื่องแลนดิ้งเมื่อไหร่ก็กำกระเป๋า(เงิน)ให้ดี ตั้งสติให้มั่นกันนะคะทุกคน แล้วลุยกันเถอะค่าาาาาา (ノ。≧◇≦)ノ


แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ บายค่าาาาา o(*^▽^*)o

​ติดตามบทความเก่าๆของทราย เพิ่มเติมได้ทางนี้นะคะ >>blogger/sinesasi

​ขอบคุณที่มาและรูปภาพบางส่วน

http://images.neverendingvoyage.com/wp-content/uploads/2011/10/money_japan.jpg

https://cdn3.ivivu.com/2014/07/8-dieu-can-nam-long-truoc-khi-du-lich-den-Nhat-Ban-ivivu-3.jpg

http://nessthenomad.com/2016-cost-of-living-guide-kamisu-japan/


บทความล่าสุด