t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

สงสัยกันไหม? ทำไมเมืองนาระถึงมีกวางเต็มไปหมด!

สงสัยกันไหม? ทำไมเมืองนาระถึงมีกวางเต็มไปหมด!

By , Monday, 15 April 2019

​สวัสดีครับเพื่อนๆ ในสัปดาห์นี้ผมขอข้ามมาที่แถบเมืองโบราณที่ใครๆก็รู้จักกันดีอย่างเมือง Nara (นาระ) โดยสัปดาห์นี้ผมจะมาไขข้อข้องใจที่หลายๆคนน่าจะนึกสงสัยอยู่ว่าหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองนาระ ซึ่งก็คือเหล่ากวางแสนรู้ทั้งหลายเนี่ย มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมพวกมันถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่ใครๆต่างมาเที่ยวก็ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกๆเสมอครับ!

​ก่อนอื่นผมขอกล่าวแนะนำเมืองนาระกันแบบสั้นๆพอสังเขปก่อนว่า มันคืออะไรยังไงสำหรับเพื่อนๆที่อาจจะยังไม่คุ้นหูเมืองนาระครับ คือ เมืองนาระนั้นเป็นเมืองโบราณของญี่ปุ่น สมัยก่อนเคยเป็นถึงเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นเลยล่ะ (ต่อมาก็ย้ายไปเกียวโต) เมืองนาระในสมัยก่อนถือเป็นเมืองหลวงที่มีความเจริญและได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายเรื่อง ปัจจุบันนาระเป็นเมืองเก่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะวัดวาอารามที่เก่าแก่จน UNESCO ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ใครๆก็รู้จักกันดี นั่นคือ กวางป่า ที่เดินเพ่นพ่านอย่างเสรีภายในเมืองนาระแถมเรายังสามารถป้อนขนมเซมเบ้ให้พวกมันทานได้อีก กวางเหล่านี้ก็ฉลาดมาก คอยปรับตัวเข้าหามนุษย์จนเอาไปถ่ายรูปมาเป็นล้านภาพกันเลยครับ...นี่ล่ะ เมืองนาระที่ใครๆก็ร้องอ๋อ ^^

​ทีนี้เมื่อกล่าวถึงเมืองนาระแบบคร่าวๆแล้ว พอพูดถึงกวางก็น่าจะมีเพื่อนๆหลายคนที่สงสัยว่า เฮ้ย!? แล้วกวางพวกนี้มันมีที่มาที่ไปยังไง มันอยู่มาตั้งแต่ก่อนที่พวกมนุษย์จะมาสร้างเมืองอีกเหรอ หรือมีคนเอาพวกมันมาเลี้ยง หรือเหตุอื่น บลาๆๆ และนั่นคือเหตุผลที่โอทารุได้เขียนบล็อกนี้มาเล่าให้เพื่อนๆทราบเป็นความรู้กันครับ เอาล่ะ เกริ่นมาพอสมควรแล้ว เข้าเรื่องกันเถอะ!

​ในสมัยโบราณนานมากแล้ว ราวๆ ปี ค.ศ. 710 จักรพรรดินี Genmei ได้มีรับสั่งให้ทำการสร้างเมืองหลวงขึ้นในที่แห่งหนึ่งแล้วเรียกชื่อเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นว่า เฮโจเคียว (平城京) หรือก็คือ นาระในปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบการวางผังเมืองจากเมืองฉางอันในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งก็เป็นเมืองหลวงของจีนในช่วงเวลาเดียวกันด้วย (ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง) ครั้นเมื่อมีการสร้างเมืองนั้น ปรากฏว่าได้มีพิธีย้ายเทพเจ้าจากศาลเจ้าในบริเวณแถบคันโตเพื่อมาสถิตอยู่ที่เฮโจเคียว ณ บริเวณศาลเจ้าคาซุงะไทฉะแทน ปรากฎว่ามีเสียงเล่าลือกันว่าเทพเจ้าได้เสด็จมาประทับในศาลเจ้าคาซุงะไทฉะโดยมีกวางเป็นพาหนะประจำตัว ซึ่งใครเป็นผู้เริ่มเล่านั้นไม่ปรากฏแต่ความเชื่อในเรื่องดังกล่าวนั้นก็ทำให้กวางที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆศาลเจ้าหรือบนภูเขาแถวนั้นก็กลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่นไป ประกอบกับความเชื่อทางชินโตที่เป็นความเชื่อของชาวญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เคารพธรรมชาติอยู่แล้วก็ยิ่งตอกย้ำให้ชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นให้ความเคารพสัตว์สี่ขาเหล่านี้มากขึ้นไปอีก จากนั้นกวางเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการรบกวนหรือล่าจากมนุษย์ที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานใหม่แต่อย่างใดและอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีจนกระทั่ง...

เข้าสู่ยุค​สมัยมุโรมาจิ (ช่วงปี ค.ศ. 1336-1573 : ช่วงนี้พูดง่ายๆ คือยุคที่อิคคิวซังกับท่านโชกุนอะชิคางะมีชีวิตอยู่นั่นแหละครับ) ปรากฏว่าถึงจุดพีคสุดๆ เมื่อมีการออกกฎหมายคุ้มครองกวาง ถึงขนาดระบุไว้เลยว่า หากผู้ใดทำการฆ่ากวางแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็จะโดนประหารชีวิต! ก็ยิ่งทำให้กวางกลายเป็นสัตว์ที่ไม่มีชาวบ้านธรรมดากล้ายุ่งเข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีขึ้นก็ย่อมมีลงล่ะครับ พอผ่านยุคสมัยต่างๆของญี่ปุ่นเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ยุคการปฏิวัติเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ซึ่งในช่วงปี 1873 ที่กวางในนาระเกือบสูญพันธุ์ไปจากในเมืองนี้ โดยสถิติที่บันทึกกันไว้คือ เหลือเพียง 30 กว่าตัวเท่านั้น สาเหตุที่กวางเหล่านี้เกือบสูญพันธุ์ เท่าที่ผมสืบค้นดูคาดว่าน่าจะเกิดจากการปฏิวัติเมจิที่พลิกญี่ปุ่นจากสังคมเกษตรแล้วมุ่งเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมประกอบกับการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด ที่สำคัญในยุคนี้ยังมีการแยกพื้นที่ประกอบศาสนกิจระหว่างชินโตกับพุทธให้ออกจากกันด้วย (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 神仏分離 - Shinbutsu bunri) ซึ่งในจุดนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้นับถือศาสนาชินโตก็ไม่ได้เคารพยำเกรงว่ากวางเป็นสัตว์ของเทพเจ้าอีกต่อไปส่งผลให้เกิดการล่ากวางขึ้นในที่สุดจนกวางในเมืองนาระลดจำนวนลงจนน่าใจหายครับ

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหล่ากวางป่าเหล่านี้อีกครั้ง เมื่อญี่ปุ่นกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) ซึ่งญี่ปุ่น "เลือกข้าง" ไปอยู่กับฝ่ายอักษะหรือพูดกันง่ายๆว่าไปร่วมกับฮิตเลอร์ แต่ต่อมาก็ประกาศยอมแพ้หลังจากที่โดนระเบิดปรมาณูไปสองลูกที่ฮิโรชิมะกับนางาซากิ แน่นอนว่า ประเทศที่พ่ายแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นนั้น ก็โดนระเบิดถล่มและชาวบ้านตาดำๆ ไร้ที่อยู่ อาหาร และขาดแคลนยารักษาโรค รวมทั้งพลัดพรากครอบครัวไปหมด ที่นาระเองก็ย่ำแย่ไปด้วยเหมือนกันเพราะได้รับความเสียหายจากสงครามรวมทั้งความอดอยากก็กระจายไปทุกหย่อมหญ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง "กวาง" ที่นาระเองก็ไม่รอด เพราะสุดท้ายกวางที่กลับมาแพร่พันธุ์ได้มากมายจากหลังผ่านช่วงปฏิบัติเมจิก็กลับมาถูกมนุษย์ไล่ล่าอีกคราหนึ่งเพื่อล่ากวางเหล่านี้เป็นอาหาร T_T จนเกือบสูญพันธุ์อีกครั้ง แต่โชคดีที่ต่อมาทางญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายคุ้มครองกวางในเมืองนาระให้กลายเป็นสัตว์คุ้มครองและเป็นมรดกของชาติทางธรรมชาติ ซึ่งก็ส่งผลให้กวางน้อยน่ารักเหล่านี้กลับมาเดินเล่นอย่างสบายใจภายในเมืองนาระแบบที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ครับ (ตอนนี้กวางมีมากกว่า 1,400 ตัวแล้วล่ะ) ^^

สำหรับกวางน้อยเหล่านี้ ปัจจุบันมีความเฉลียวฉลาดเป็นอย่างมากและมักคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี นอกจากนี้หลายตัวยังยอมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆได้อีกต่างหาก (มีบางตัวยอมให้กอดด้วยนะ ดูภาพสิครับ ผมยังอึ้ง) อย่างไรก็ตาม โอทารุขอเตือนว่า ยังไงก็อย่าประมาทนะครับเพราะกวางเหล่านี้ก็คือสัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง อย่าไปรังแกหรือแกล้งเขาเลยโดยเฉพาะการหลอกล่อด้วยอาหารเพราะกวางอาจจะเข้าใจผิดแล้วงับเรา หรือถ้าไปแกล้งจนเขาตกใจก็อาจจะพุ่งชนเรารวมทั้งอาจถีบหรือเอาเขาชนเราจนได้รับบาดเจ็บได้ครับ เอาเป็นว่ายังไงก็ขอให้สนุกสนานกับเมืองนาระและหวังว่าบล็อกสั้นๆนี้จะช่วยคลายสงสัยเรื่องกวางให้เพื่อนๆได้นะครับ!!!

ที่มาของเนื้อหา akemisagawanarashikanko และ wikipedia.org

ภาพปกจาก nippon.com

ภาพขาวดำจาก wikipedia

ภาพประกอบที่เหลือจากกล้องของโอทารุทั้งหมด หากจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ กรุณาขออนุญาตผมก่อนนะครับ

บทความล่าสุด