e การศึกษา

5 ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยไทย และญี่ปุ่น

5 ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยไทย และญี่ปุ่น

By , Wednesday, 03 August 2016


มหาวิทยาลัยของแต่ละประเทศก็มีธรรมเนียม และกฎเกณฑ์อะไรหลายๆอย่างที่ต่างกัน ดิฉันมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นตั้งแต่จบม.6 เพราะงั้นก็เลยไม่เคยอยู่มหาลัยไทยค่ะ บางทีคุยกับเพื่อนในกรุ๊ปไลน์ก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องระบบของที่ไทย ส่วนเพื่อนเองก็ไม่เข้าใจระบบที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน ดังนั้นวันนี้ดิฉันเล่าให้ฟังว่ามันมีอะไรที่ต่างกันบ้างนะ ไปดูกันเลยค่ะ!!


1.การจัดคณะ และสาขา

อย่างเช่นถ้าเป็นที่ไทยจะมีคณะอักษรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่!! ที่ญี่ปุ่น(แต่ละมหาลัยอาจจะไม่เหมือนกัน) จะเป็น คณะอักษรศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งก็จะมีแยกย่อยลงไปอีกในแต่ละสาขา สรุปก็คือ คณะหนึ่งก็มีสาขาย่อยลงไปเยอะมากเลยทีเดียว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยดิฉันที่โด่งดังในเรื่องกีฬา ก็มีคณะพลศึกษา สาขาจูโด และเคนโด้ โดยเฉพาะด้วย! สมกับเป็นญี่ปุ่นจริงๆค่ะ 

คณะอักษรศาสตร์ สาขานิเทศฯ ค่ะ มีเพื่อนดิฉันอยู่ในภาพด้วย


ตอนใกล้เปิดเทอม ดิฉันก็กลับญี่ปุ่นมา แล้วตอนที่อยู่สนามบิน ตม.ก็จะถามคำถามใช่ไหมคะ วันนั้นดิฉันยื่นพาสปอร์ต พร้อมบัตรพำนักที่ญี่ปุ่นในฐานะนักเรียนไป

ตม.สุดหล่อ : เรียนอยู่คณะอะไรครับ
ดิฉัน : คณะอักษรศาสตร์ค่ะ!
ตม.สุดหล่อ : เอ่อ….อักษรศาสตร์ มันก็มีเยอะนะ สาขาอะไรครับ
ดิฉัน : สาขานิเทศฯค่ะ! มหาลัยOO จังหวัดXX (โสด เหงา และเปล่าเปลี่ยวมากค่ะ)
ดิฉันไม่ได้กวนทีนคุณตม.สุดหล่อนะคะ แต่เขาถามแค่คณะไง เลยตอบแค่นั้น…. แต่จริงๆแล้วดิฉันอยากคุยกับเขานานๆค่ะ แอร๊ยยยย…


2.การแบ่งเกรด

จริงๆมหาลัยแต่ละมหาลัยในญี่ปุ่นเอง ก็มีการแบ่งเกรดที่ต่างกัน อย่างเช่นมหาลัยดิฉันจะแบ่งเป็น เกรด S = 90 คะแนนขึ้นไป ,A = 89-80 คะแนน ,B = 79-70 คะแนน ,C = 69-60 คะแนน ซึ่งถือว่า ผ่าน ส่วน D และ E = ต่ำกว่า 59 คือไม่ผ่าน แต่มหาลัยของเพื่อน จะมีเกรด AA ,A ,B ,C ,FF, XX (ช่วงคะแนนเหมือนที่มหาลัยดิฉัน แต่ต่างกันที่ตัวอักษร)


                                แอบลงภาษาไทยแล้วได้ S มาด้วยล่ะ…ย้อนอ่านบล็อก "เรียนภาษาไทยในมหาลัยญี่ปุ่น" ทั้ง3ตอนได้นะจ้ะ 

แต่ก่อนดิฉันมโนเอาเองว่า ว่า S ย่อมาจาก "Sugoi !Super Saikou"ที่แปลว่า "สุดยอด! เกรดแบบนี้มันซุปเปอร์สูงสุดเลย" ชัวร์! แต่จริงๆมันมาจากภาษาอังกฤษว่า Special (พิเศษ) หรือไม่ก็ Superior (ยอดเยี่ยม) นั่นเอง แต่เวลาคิด GPA เนี้ย S = 4 นะ ดังนั้นถ้าเรียนได้แต่ A = 3 ปุ๊บ GPA ก็จะดิ่งลงจนน่ากลัวมาก


3.รับน้อง

ประเพณีรับน้องอันโด่งดังของไทย ดั๊นนนไม่มีในญี่ปุ่นซะนี่! โถ่ ดิฉันอยากเจอพี่ว้ากหล่อๆแซ่บๆกับเค้าบ้างจัง แต่ถึงญี่ปุ่นไม่มีรับน้องก็มีวันที่จะได้เจอกับเพื่อนๆและรุ่นพี่เหมือนกัน วันนั้นเรียกว่า "Guidance (ガイダンス)" พูดง่ายๆคือวันที่มาฟังอาจารย์พูดเกี่ยวกับวิธีลงเรียน เพราะเด็กปีหนึ่งก็ยังไม่รู้จะเรียนอะไร และเข้าเว็บลงทะเบียนกันไม่เป็นเนอะ 

บรรยากาศวัน Guidance ที่มหาลัยค่ะ ไม่มีดิฉันค่ะ ไม่ต้องหา55


และที่สำคัญคือ จะมีรุ่นพี่มาแนะนำชมรมของคณะ!! กรี้ดมากกกกกก เพราะตอนปี1 ดิฉันเจอรุ่นพี่ที่หน้าเหมือน ซากุไร โช (วงอาราชิ) ด้วย!! แต่สุดท้ายดิฉันก็ไม่ได้เข้าชมรมเดียวกับพี่เขานะ เพราะได้ยินว่าชมรมนั้นงานยุ่งมาก จนไม่มีเวลาจะทำพาร์ทไทม์ค่ะ (ระหว่างเงินกับผู้ชาย…แน่นอนว่าดิฉันเลือกเงิน)


4.การฝึกงาน

ฝึกงาน หรือ Internship (インターンシップ) มหาลัยที่ญี่ปุ่น ไม่บังคับเรื่องการฝึกงาน ไม่มีอยู่ในหลักสูตร สามารถฝึกงานได้ตั้งแต่อยู่ปี 1 ยันปี 4 เลย (แล้วแต่คุณสมบัติที่บริษัทนั้นๆต้องการ) โดยติดต่อผ่านเว็บไซต์เอง หรือบางทีทางมหาลัยจะเป็นผู้ติดต่อให้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการฝึกงานมีตั้งแต่ 1 วัน จนไปถึง 3 เดือนค่ะ แต่ที่ไทยจะบังคับให้ฝึกงาน และเริ่มฝึกกันก่อนเรียนจบหนึ่งปี (แล้วแต่คณะ)


ถึงแม้จะไม่บังคับให้ฝึกงาน แต่เด็กญี่ปุ่นส่วนมากก็ฝึกงานกันนะคะ เพราะเวลาเขียนเรซูเม่สมัครงาน นอกจากจะเขียนเรื่องชมรมและงานพาร์ทไทม์แล้ว ถ้ามีเขียนว่าเคยฝึกงานบริษัทนู้นนี้ ก็จะได้เปรียบมากขึ้นค่ะ ส่วนเด็กต่างชาติเองก็มีโครงการที่เหมือนบริษัทหลายๆแห่งรวมตัวกัน เปิดรับแต่ต่างชาติด้วยนะ ดิฉันเคยจะไปฟังสัมมนา แต่สุดท้ายดันติดธุระเลยไม่ได้ไปฟัง และอดฝึกงานค่ะ เลยเอาประสบการณ์มาเล่าให้ทุกคนไม่ได้ค่ะ (เค้าขอโทษ…)


5.หางานกันตั้งแต่จบปีสาม

นอกจากช่วงเด็กญี่ปุ่นสอบเข้ามหาลัยแล้ว เทศกาลหางานของเด็กที่จะจบมหาลัย ถือเป็นอีกช่วงที่สำคัญยิ่งชีพ และเครียดมากๆค่ะ โดยปกติแล้วตอนปี 3 ทุกคนจะรีบลงหน่วยกิตให้ครบ เพื่อให้ตัวเองเรียนจบภายใน 3 ปี ส่วนปีที่ 4 จะอุทิศเวลาและแรงกายแรงใจให้กับการหางานค่ะ เพราะมันหาย๊ากกกกกยากกกกกกก!! ส่วนที่ไทย ดิฉันไปสืบไปมาจากเพื่อนๆ เขาบอกว่า การฝึกงานมีผลต่อการหางาน ถ้าได้บริษัทดีๆตอนฝึกงานก็มีโปรไฟล์ดีในการสมัครงานด้วยนะ 

ชุดสูท ผมดำเรียบตึง และหน้าตาเคร่งเครียด การแข่งขันสูงจนน่ากลัวเลยค่ะ


เพื่อนคนญี่ปุ่นของดิฉันเข้าสู่วังวนหางานตั้งแต่ปิดเทอมขึ้นปี 4 สมัครไปหลายบริษัทมาก เดินทางไปสัมภาษณ์แทบจะทั่วเขตคันโตแล้วค่ะ เพื่อนบอกว่า "เกิดมา22ปี เพิ่งเคยไปที่นู่นที่นี่เยอะขนาดนี้เป็นครั้งแรก" รวมๆแล้วเสียเงินไปเกิน 200,000 เยน พวกค่าชุดสูท กระเป๋า ค่าเดินทาง ค่ากิน แต่ในที่สุดเพื่อนดิฉันก็ได้งานแล้วค่ะ! ดีใจกับเพื่อนมาก ขอให้เพื่อนทำงานแล้วได้เงินที่เสียไปสองแสนกลับคืนมาเร็วๆค่ะ


นี่เป็นเพียง 5 ข้อที่ดิฉันเห็นว่าต่างกับมหาลัยของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง บางเรื่องดิฉันก็ชอบ อย่างเช่น การไม่บังคับฝึกงาน เพราะดิฉันเป็นพวกไม่ชอบโดนบังคับค่ะ 55 แต่ที่ไม่ชอบคือ การที่ไม่มีรับน้อง ทำให้ช่วงแรกๆหาเพื่อนได้ยาก แล้วก็ไม่ชอบช่วงเวลาหางานของเด็กปี4 ด้วยค่ะ อะไรจะเครียดขนาดน้านนน!!


ขอบคุณภาพจาก

http://daini2.co.jp/wp/wp-content/

http://prtimes.jp/i/6227.jpg

http://www.u-tokai.ac.jp/

"