e เรื่องทั่วไป

วิธีรับมือกับฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น

วิธีรับมือกับฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น

By , Wednesday, 03 July 2019

​สวัสดีครับเพื่อน ๆ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ฤดูร้อนกันอย่างเต็มตัวแล้วล่ะครับ อากาศที่เคยเย็นก็จะค่อย ๆ อบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความร้อนที่หลายคน (รวมทั้งผม) บอกกันว่า "ร้อนกว่าเมืองไทย" เสียอีก นอกจากนี้เดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนกันยายน ยังเป็นช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้ามาทักทายญี่ปุ่นเป็นประจำอีกก็ยิ่งทำให้อากาศในช่วงนี้นอกจากมีความร้อนแล้วยังมีฝนตกอีกด้วยครับ

อย่างไรก็ตามฤดูร้อนของญี่ปุ่นไม่ใช่จะมีแต่ข้อเสียหรอกนะครับ เพราะช่วงนี้ก็เป็นช่วงจัดเทศกาลพื้นบ้านของคนญี่ปุ่นตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งเทศกาลดอกไม้ไฟ และยังเป็นฤดูกาลของสาย outdoor ที่ภูเขาสูงต่าง ๆ จะปลอดหิมะซึ่งเราสามารถเดินป่า/ปีนเขาขึ้นไปถึงยอดได้หลายแห่งเลยหรือสายว่ายน้ำก็เป็นนาทีทองสำหรับการไปเที่ยวทะเลครับ ส่วนสาย shopping ก็ไม่ต้องน้อยใจเพราะช่วงนี้ตามห้างในญี่ปุ่นก็พร้อมใจกัน "SALE" สินค้าต่าง ๆ เช่นกันครับ แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งก็เปิดบางโซนที่ปกติปิดไว้ก็มี ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยก็คือ "ช่วงนี้ตั๋วโปรฯเยอะมาก ตั๋วไป-กลับบินตรงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหาได้ไม่ยาก" ดังนั้น เห็นแล้วใช่ไหมครับว่าฤดูร้อนของญี่ปุ่นก็มีดีเหมือนกัน ^^

เมื่อกล่าวถึงความดีของหน้าร้อนไปแล้ว ก็ขอกล่าวถึงข้อเสียหลัก ๆ ของช่วงนี้เพิ่มเติมอีกสักนิด ก็คือ สภาพอากาศร้อนนี่แหละครับ คือ คำว่าร้อนของญี่ปุ่นกับร้อนของเมืองไทย บอกตรง ๆ ว่า "ต่างกันนะครับ" มือใหม่อย่ามองว่า เฮ้ย! เมษาฯบ้านเรานี่แหละร้อนบรรลัยสุด ๆ แล้ว คือ ผมอยากบอกว่า ถ้าลองไปญี่ปุ่นช่วงนี้ก็เหมือนไปเจอช่วงเมษายนบ้านเราอีกทีนะ แต่ความรู้สึกถึงความร้อนจะต่างกันแบบนี้ครับ 

--> บ้านเราเวลาร้อนเนี่ย มันร้อนแสบผิวใช่ไหม ออกไปโดนแดดปุ๊บ โอ้โห! ยังกะแดร็กคูล่า ต้องกางร่ม ต้องเดินในมุมที่มีกันสาดหรือชายคาบังแดดแล้วก็ปาดเหงื่อเวลาซดก๋วยเตี๋ยวไป แล้วก็เข้าห้องแอร์เย็นฉ่ำจนต้องใส่เสื้อกันหนาว อารมณ์จะประมาณนี้ แต่!!! ที่ญี่ปุ่นเวลาเราตรวจสอบอุณหภูมิจากมือถือ มันจะขึ้นประมาณ 30-35 องศาเซลเซียสตลอด (ขณะที่เมษายนบ้านเรา ตัวเลขทะลุ 40-45 องศาเซลเซียสเป็นปกติ) ถ้าใครดูแค่นี้อาจจะคิดว่า "โอ้ย ไม่ร้อนหรอก" แต่ผมจะบอกว่า "อย่าให้ตัวเลขหลอกเราครับ" คุณต้องดู Real Feel หรือความรู้สึกจริงต่างหาก! คือ พอออกไป outdoor นะ จังหวะแรกที่เราปะทะความร้อนเราจะรับรู้ถึง "ความเหนียว"ตามร่างกาย แล้วลมที่พัดมาปะทะตัวเราก็มักจะเป็นลมร้อนด้วย ลมร้อนที่ว่านี้ถ้าใครนึกไม่ออกว่าร้อนแบบไหน ให้นึกถึงลมร้อน ๆ ที่มันเป่าออกมาจากคอมเพรสเซอร์แอร์ตามเซเว่นไม่ก็โรงงานครับ นึกออกไหม ที่เครื่องมันเป่าลมร้อน ๆ ออกมาอ่ะ นั่นล่ะอารมณ์นั้นเลย พวกลมเย็น ๆ ชายทุ่งแบบบ้านเราที่พัดมาให้สดชื่นนี่หายากมาก โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียว/โอซาก้าที่มีแต่ลมร้อนแบบที่ว่านี่แหละ (ก็มันมีแต่ตึกสูง) นอกจากนี้ ถ้าเราอยู่กลางแจ้งมาก ๆ นะ เหงื่อจะไหลออกมาเรื่อย ๆ ถ้าหนักหน่อยก็อาจจะเป็น Heat Stroke ได้ด้วย (มีคนญี่ปุ่นเสียชีวิตเพราะเรื่องนี้ทุกปีนะครับ) ส่วนใครที่อยากเข้าห้องแอร์นะ แอร์ที่ญี่ปุ่นก็แสนจะรักโลกเหลือเกิน เพราะอาคารหลาย ๆ ที่ตอนนี้เขารณรงค์ให้ตั้งอุณหภูมิที่ 27-28 องศาเซลเซียสเท่านั้น (ซึ่งผิดกับบ้านเราที่เข้าห้างแล้วยังกะสวรรค์) ดังนั้น ใครที่ขี้ร้อนมาก ๆ อาจจะต้องทนกับสภาพอากาศแบบนี้สักหน่อยหากมาเที่ยวช่วงฤดูร้อนครับ 

​ทีนี้ก็จะมีคำถามว่า "แล้วเราจะป้องกันความร้อนของญี่ปุ่นได้อย่างไรเวลามาเที่ยวล่ะ" โอทารุเองก็ไปสรรหาวิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองมาให้อ่านเป็นไอเดียดังนี้ครับ (บางข้อก็ง่าย บางข้อก็อาจจะเฉพาะบุคคล ลองอ่านดูนะครับ อันไหนถูกใจก็จัดไป)

1.เรื่องนี้สำคัญที่สุด จะจ่ายมากจ่ายน้อยก็แล้วแต่ แต่ควรทำทุกคนและทุกครั้งที่ไปเที่ยว นั่นคือ "ประกันภัยการเดินทาง" เผื่อเราไปเจ็บป่วย/เจออุบัติเหตุที่ญี่ปุ่นครับ (ถ้าจ่ายเองแพงมากกกกกกกกก ขอเตือน)

2.วิธีนี้ผมใช้ประจำแถมไม่แพงด้วย นั่นคือ "พกแป้งเย็นตรางู" ไปญี่ปุ่นด้วย...นี่ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ เดี๋ยวนี้แบรนด์เขาไปไกลมีขายทั้งแบบสเปรย์ฉีด แบบกระดาษเปียก และแบบอื่น ๆ อีกเยอะ หาซื้อในห้างที่ไทยก่อนไปได้เลยครับ ร้อนก็เอาออกมาใช้ซะ

3.ดื่มน้ำให้พอเหมาะตลอดเวลา เนื่องจากความร้อนในฤดูนี้จะทำให้เราเหงื่อออกมาก ร่างกายจะสูญเสียน้ำไปแบบที่เราไม่รู้ตัว ถ้าใครเป็นคนไม่ชอบดื่มน้ำจะแย่เอา ดังนั้น ขอให้พยายามดื่มน้ำบ่อย ๆ ครับ ดื่มน้ำเปล่านี่แหละ -->อย่าไปมองว่าน้ำเปล่าที่ญี่ปุ่นแพงเพราะคุณไปเทียบแค่ขวด 7 บาทในบ้านเรากับราคา 130 เยนในร้านสะดวกซื้อหรือตามตู้ครับ จริง ๆ แล้วคุณพกขวดน้ำแล้วไปเติมตามสวนสาธารณะก็ได้ (ถ้าอยากประหยัดมากอ่ะนะ) ส่วนใหญ่มีที่เติมน้ำเปล่าแบบฟรี ๆ อยู่แล้ว หรือตามร้านสะดวกซื้อ ถ้ามีแรงแบกแนะนำให้ซื้อขวด 2 ลิตรครับ ราคาไม่เกิน 100 เยน ถูกกว่าขวดเล็กอีก! แล้วก็แบกกลับมาห้องจากนั้นแบ่งมาเทใส่ขวดเราก่อนออกไปเที่ยวแต่ละวันก็ช่วยได้มาก ส่วนใครที่ชอบซื้อเครื่องดื่มจากตู้กดน้ำก็สบายเลยครับ ญี่ปุ่นมีให้กดตลอด เลือกได้ตามใจชอบเลย ดื่มแล้วสดชื่นขึ้นแน่ ๆ ครับ!

-แล้วจะรู้ได้ไงว่าดื่มพอหรือยัง? ง่ายมากครับ เวลาปัสสาวะถ้ายังเป็นสีเหลืองแปลว่าร่างกายเรายังขาดน้ำ ก็ค่อย ๆ ดื่มเป็นระยะจนเราปัสสาวะเป็นสีใสนั่นแหละคือร่างกายได้รับน้ำเพียงพอแล้ว (จากนั้นค่อยจิบเป็นระยะ ๆ ต่อไปครับ) 

​4.หลีกเลี่ยงแหล่งท่องเที่ยว outdoor ที่ใช้เวลาเดินเที่ยวนาน ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ "อย่าอายที่จะกางร่ม" แล้วจิบน้ำตามด้วย หรือจะใส่หมวกด้วยก็ได้ ส่วนใครมีพัดลมพกพาขนาดเล็กก็อย่าลืมเอามาใช้ก็ดีครับ!

5.แม้ว่าห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ แห่งจะปรับอุณหภูมิไว้ที่ 27-28 องศาเซลเซียส แต่มันก็ยังดีกว่าการไปยืนตากแดดครับ แม้ว่าคุณจะไม่ใช่สาย shopping แต่การแวะเข้ามาตากแอร์ เข้าห้องน้ำ หรือนั่งพัก indoor ก็จะช่วยให้คุณมีแรงเดินเที่ยวต่อได้แน่นอน อ้อ! นอกจากห้างสรรพสินค้าหรืออาคารที่ปรับอุณหภูมิแล้ว ขอเตือนว่า "บนรถไฟก็ปรับเหมือนกัน" ยิ่งชินคันเซนนี่แอบร้อนเลยนะครับ ผมนี่ขึ้นรถเหงื่อแตกตอนเดือนกรกฎาคมมาแล้ว ต้องเอาพัดมาช่วย...(เคยไปอ่านดูว่าทำไมถึงปรับให้มันอุ่น ๆ ก็ได้ข้อมูลว่าถ้าปรับให้เย็นมาก ๆ ผู้โดยสารที่ขึ้น/ลงจากรถก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้ไม่สบายได้ อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนครับ)

6.เวลาเลือกที่พัก แนะนำว่า ตอนเลือกต้องดูให้ชัวร์ว่าห้องที่คุณจองนั้นมีแอร์นะครับ (ที่พักบางแบบ ไม่มีแอร์นะครับ ให้เปิด/ปิดหน้าต่างแค่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่พักแบบประหยัดครับ ในโรงแรมมีหมด) ส่วนการใช้รีโมตแอร์ ถ้าไม่มีภาษาอังกฤษให้เราก็ให้กดปุ่มตัวคันจิตัวนี้นะครับ 冷房 (อ่านว่า rei-bou แปลว่า ทำความเย็น) แล้วจะปรับอุณหภูมิเท่าไหร่ก็ตามใจเรา ส่วนใครอยากอ่านบล็อกเต็มเรื่องภาษาคันจิของรีโมตแอร์ก็คลิกตรงตัวสีแดงได้เลยครับ)

​วิธีต่อจากนี้อาจจะ advance สำหรับมือใหม่สักหน่อย แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนเป็นมือเก๋าหรือเที่ยวตามเมืองหลักจนเบื่อแล้ว ผมขอแนะนำเพิ่มเติมตามนี้ครับ

1.ถ้าโตเกียว/โอซาก้า ไม่ใช่เป้าหมายหลักของคุณ แนะนำว่าเปลี่ยนเส้นทางไปแถบโทโฮคุ (ภาคอีสาน) หรือขึ้นไปฮอกไกโดเลยก็ได้ครับ ปกติแล้วแถวนี้จะเย็นกว่า (คือเดินก็เหงื่อแตกเหมือนกันตอนกลางวัน แต่กลางคืนยังมีลมเย็น ๆ มาให้เรารู้สึกสดชื่นนั่นเอง อีกอย่างหน้าร้อนนี่คือหน้า High season ของฮอกไกโดนะครับ ทุ่งลาเวนเดอร์ที่เราฮิต ๆ กันก็บานช่วงหน้าร้อนนี่ล่ะ)

2.ไปว่ายน้ำตามสระว่ายน้ำหรือริมทะเล ที่ฮิต ๆ และไปกันง่ายมาก ๆ ก็ชายหาดตรง Enoshima ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เมือง Kamakura ครับ คนเพียบ หนุ่ม ๆ น่าจะชอบเพราะสาวญี่ปุ่นเค้าไม่อายในการโชว์หุ่นกันสักเท่าไหร่นะครับ คริๆ

3.อย่างที่บอกตอนต้นคือ บางคนไปปีนเขาหนีร้อนไม่ก็ไป camping กัน วิธีนี้โอทารุเองก็ทำมาแล้วครับ คือญี่ปุ่นเนี่ยมีภูเขาสูง ๆ เยอะมาก (หลาย ๆ ลูกสูงกว่าดอยอินทนนท์มาก รวมถึงฟูจิซังที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นด้วย) อุณหภูมิปกติของภูเขาที่ความสูงราว ๆ  1,500 เมตรขึ้นไปนั้น ค่อนข้างเย็นสวนทางกับในเมืองเลยครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ สมมติอุณหภูมิกลางเมืองโตเกียวอยู่ที่ 32 องศาฯ แต่ถ้าเราไปสถานีฟูจิชั้น 5 (ซึ่งมีความสูงราว ๆ 2,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล) อุณหภูมิจะลดลงไปเหลือแค่ราว ๆ 18 องศาเท่านั้น! แล้วถ้าเราเดินขึ้นฟูจิไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งหนาวครับและพอพระอาทิตย์ตก อุณหภูมิมักจะเหลือแค่ 12 องศาที่โซนด้านบนก็ได้ (ราว ๆ ความสูง 3,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ส่วนบนยอดสุดที่ 3,776 เมตร อุณหภูมิจะเหลือ "เลขหลักเดียว" สะใจแน่นอนครับ 

-ใครที่ไม่ปีนฟูจิ แต่ยังอยากได้อากาศเย็น ๆ หรือยังอยากเล่นหิมะตอนหน้าร้อน --> มันเป็นไปได้นะครับ แนะนำที่ Tateyama (ที่ชอบไปดูกำแพงหิมะกันน่ะแหละ) ถึงกำแพงหิมะจะละลายแล้ว แต่ด้านบนนี้ (ความสูงพอ ๆ กับดอยอินทนนท์) อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 16-18 องศาเซลเซียสนะครับ ผมเคยไปมาแล้ว ยังต้องคว้าเสื้อกันหนาวมาใส่ แถมยังมีหิมะเหลือด้วยนะ ดูภาพประกอบได้เลย!!! ก็แนะนำไว้เป็นตัวเลือกครับ  


 และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีรับมือฤดูร้อนของญี่ปุ่นครับ จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นนี่มีความหลากหลายเรื่องสภาพอากาศจริง ๆ ยังไงก็อยากให้เตรียมตัวกันไว้สักหน่อย การท่องเที่ยวจะได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น ก็หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ ขอให้เพื่อน ๆ สนุกกับการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนคร้าบบบบบบ ^^

ที่มาของภาพปก wpsd6.local

ภาพประกอบต่าง ๆ จาก Hoshinoresorts, theculturetrip, realestate.co.jp และ japantimes ส่วนภาพสุดท้ายเป็นของโอทารุถ่ายไว้เองครับ