blog-cover-toilet1

สวัสดีครับเพื่อนๆของโอทารุ เป็นอย่างไรกันบ้างกับฤดูหนาวปีนี้บ้างครับ? ได้ไปเจอหิมะกันมาบ้างไหมเอ่ย? สำหรับโอทารุก็ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ อยู่บ้านนั่งเขียนบล็อกให้เพื่อนๆที่น่ารักของผมอ่านนี่ล่ะ! สำหรับครั้งนี้ ผมจะมาเขียนเรื่อง "สุขา" ใช่แล้ว! เรื่องการใช้สุขาอัตโนมัติไงล่ะครับ (แต่ขอเรียกส้วมตามโอกาสนะครับ เผื่อพิมพ์ตกหล่นหรือพิมพ์สลับกัน) เพราะว่าที่ญี่ปุ่นนั้น บางแห่งยังมีปุ่มกดเป็น "ภาษาญี่ปุ่นล้วน" ถ้าใครอ่านออกก็สบาย แต่ใครอ่านไม่ออก บางครั้งกดผิดนี่น้ำร้อนพุ่งเข้าทั้งด้านหน้าด้านหลังมีสะดุ้งกันเลยนะครับ นั่นแหละคือที่มาของบล็อกนี้ เอาล่ะ ก่อนอื่นมาเริ่มที่ประวัติของสุขาอัตโนมัติกันสักเล็กน้อยครับ 

บริษัทสุขภัณฑ์ Toto (โตโต้) เป็นผู้คิดค้นส้วมแบบอัตโนมัติ Washlet (ภาษาญี่ปุ่น : ウォシュレット อ่านว่า วูโอชูเล้ทโตะ หรือ 温水洗浄便座 อ่านว่า อนซุอิเซ็นโจเบ็นซะ-ที่นั่งแบบมีน้ำอุ่นล้าง) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960s โดยแรกเริ่มนั้นระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กิจการทางการแพทย์และก็การดูแลผู้ป่วยครับ เนื่องจากสมัยนั้นส้วมแบบดังกล่าวมีราคาแพงมากและการควบคุมอุณหภูมิน้ำไม่ให้ "ลวกช่วงล่าง" ของผู้ป่วยยังทำได้ยาก! ต่อมาบริษัทก็ได้พัฒนาปรับปรุงให้ส้วมแบบนี้ทันสมัยมากขึ้น ล่วงมาถึงช่วงทศวรรษ 80s ก็ได้มีการวางจำหน่ายส้วมอัตโนมัติสองแบบ ก็คือ

G Series--ย่อมาจาก Gorgeous : รุ่นนี้สามารถเก็บน้ำอุ่นได้ มี Bidet สำหรับฉีดชำระธุระเบาของสุภาพสตรีและธุระหนักสำหรับทั้งสองเพศ พร้อมฟังก์ชั่นเป่าแห้งและปรับอุณหภูมิฝารองนั่งให้อุ่น

S Series--ย่อมาจาก Standard : รุ่นนี้สามารถแปลงน้ำในระบบให้กลายเป็นน้ำอุ่นได้และมาพร้อมกับ Bidet สำหรับฉีดชำระธุระเบาของสุภาพสตรีและธุระหนักสำหรับทั้งสองเพศ และปรับอุณหภูมิฝารองนั่งให้อุ่น

โดยการทำงานทั้งสองรุ่นจะทำการสั่งการผ่านปุ่มคำสั่งที่คล้ายๆรีโมทอยู่ใกล้ฝารองนั่งด้านใดด้านหนึ่งหรือติดอยู่ที่ผนังใกล้ๆครับ

ซึ่งทั้งสองแบบนั้นก็ยังคงมีขายในปัจจุบัน แล้วก็ต่อยอดการพัฒนาจุดขายแบบอื่นๆให้ติดตลาด(ญี่ปุ่น)อยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ

​สำหรับลักษณะของสุขาอัตโนมัตินั้น เชื่อว่าเพื่อนๆส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีเพราะประเทศไทยก็เริ่มมีการติดตั้งกันแล้วในห้างสรรพสินค้าชื่อดังบางแห่ง คือ มันจะใช้ปุ่มกดแทนสายฉีดชำระแบบที่เราเคยชินกันแล้ว ทว่าในญี่ปุ่นตัวปุ่มกดคำสั่งอาจจะไม่ได้อยู่ข้างๆแป้นสุขาเสมอไปนะครับ อาจจะไปติดอยู่ที่ผนังห้องน้ำแทนก็มีเหมือนกัน เอาเป็นว่าการใช้งานก็เหมือนกันนั่นแหละ และต่อไปนี้คือ "คำสั่งพื้นฐาน" ที่ทุกคนควรจำไว้เวลาไปเข้าห้องน้ำที่ญี่ปุ่นครับ

1. おしり (อ่านว่า โอชิริ) มั่นใจว่าสำคัญและใช้บ่อยมากๆสำหรับท่านชายและสุภาพสตรีรวมทั้งเด็กๆ เพราะนี่คือปุ่ม "ล้างก้น" นั่นเอง พอกดแล้วมันจะมีเสียงวื้ดๆๆ แล้วก็จะมีท่อเล็กๆโผล่ออกมาจากใต้แป้นรองนั่งแล้วก็ฉีดน้ำใส่ก้นของเราครับ! คนกดก็นั่งอย่างเดียวให้มันล้างไป หรือถ้าท่านไหนเก่งแล้วก็สามารถ "ปรับความแรงของน้ำที่พุ่งมาล้าง" ก็สามารถทำได้ ด้วยคำสั่งนี้ 水勢 (อ่านว่า ซุยเซย์ แปลว่า แรงดันของน้ำ หรือ water pressure)

2. ビデ (อ่านว่า บิเดะ) อันนี้สำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะ เพราะเอาไว้ "ล้างด้านหน้า" พอกดแล้วก็จะมีท่อเล็กๆโผล่มาใกล้ๆ "ของสงวน" แล้วก็ทำการฉีดน้ำเพื่อชำระเช่นเดียวกับข้อ 1 ครับ ต่างกันแค่มันโผล่ด้านหน้าเท่านั้นเอง! และเราก็สามารถปรับความแรงของน้ำที่ฉีดได้เหมือนข้อแรกด้วยล่ะครับ!

3. 洗浄強さ หรือ 水勢 (อ่านว่า ซุยเซย์) แปลว่า แรงดันของน้ำ หรือ water pressure บางรุ่นจะใช้คันจิ บางรุ่นอาจจะเป็นปุ่มหมุนเพิ่มความเบา/แรง ครับ โดยรวมก็คือการปรับ "ความแรง" ของน้ำที่จะฉีดมาที่จุดสำคัญของเราทั้งคู่ครับ โดยมีคันจิ 弱 แปลว่า เบา และ 強 แปลว่า แรง

4. 止 (อ่านว่า โทเมะรุ) อันนี้ง่ายมากครับ มันก็คือปุ่ม "หยุด" หรือ stop นั่นแหละ...ใครที่ทำธุระเสร็จ ชำระล้างเรียบร้อยก็กดปุ่มนี้ เจ้าท่อมหัศจรรย์ก็จะหดกลับเข้าไปยังที่เก็บตามเดิมครับ

5. 便座 (อ่านว่า เบ็นซ่ะ) แปลว่า ที่นั่ง

-สำหรับการกดชักโครก ถ้าเป็นรุ่นพื้นฐานจะยังคงมีก้านโยกแบบบ้านเราครับ แต่มีลูกเล่นนิดหน่อยคือ ใช้น้ำมากหรือน้ำน้อย (ถ่ายเบาก็ดันฝั่งนึง ถ่ายหนักก็ดันฝั่งนึง ก็เพื่อประหยัดน้ำนั่นแหละ) แต่ถ้าไฮเทคมากๆ จะไม่มีก้านโยกนะครับ เขาจะใช้ระบบเซนเซอร์แทน!!!

คันจิสองตัวที่จะพบบ่อยมากตรงก้านหรือปุ่มกดชักโครกก็คือ 大 อันนี้แปลว่า "ใหญ่" ในที่นี้หมายถึง กดชักโครกแบบเต็มที่หลังถ่ายหนัก ส่วน 小 แปลว่า "เล็ก" ก็ตรงข้ามกัน ไว้สำหรับหลังถ่ายเบาครับ! ในส่วนนี้คือ คำสั่งแบบ Basic ที่เราน่าจะได้พบเจอบ่อยที่สุด แต่.....บางแห่งอาจจะ extreme สุดๆ คือ มีคำสั่งญี่ปุ่นล้วนๆไม่พอ ยังใช้คันจิให้เราต้องลุ้นเวลากดด้วยก็มีเหมือนกัน เดี๋ยวดูภาพด้านล่างนี้เลยครับ 

--ในภาพนี้ ถัดจากคำสั่ง ビデ (Bidet) จะเห็นปุ่มกลมๆแถวบนกับแถวล่างใช่ไหมครับ

สำหรับแถวบน 洗浄強さ ก็คือ การปรับระดับความแรงของน้ำที่ฉีดจุดสำคัญของเราเหมือนแบบเดียวกับในคำสั่งพื้นฐานครับ (คันจิ 弱 แปลว่า เบา และ 強 แปลว่า แรง)

ส่วนแถวล่าง 洗浄位置 คือ ตำแหน่งของหัวฉีด (Nozzle Position) หน้า 前 /หลัง 後 (เลื่อนเข้าเลื่อนออก)

ขยับมาอีกหน่อย ก็คือ 乾燥 หมายถึง "เป่าแห้ง" ส่วน マッサージ คือ ปุ่มนวด!!! (กดเปิด/ปิดในปุ่มเดียวกัน)

ถัดมาคือ ที่นั่งชักโครก ส่วนด้านล่างคือ กำจัดกลิ่น (เปิด/ปิดในปุ่มเดียวกัน)

ต่อมาคือ 温水 คือการปรับอุณหภูมิของน้ำ (ปรับผิด ระวังน้ำลวกของสงวนล่ะครับ 555) ส่วนปุ่มกลมแดง คือ "ปุ่มปิด" และขวาสุด คือ ปุ่มประหยัดไฟ (น่าจะ Power Save Mode)

สำหรับภาพเหล่านี้เพื่อนๆผู้อ่านมีโอกาสพบเจอตามร้านอาหารหรือที่พักอยู่นะครับ ทว่า.....ตอนนี้หลายๆคนเริ่มนิยมไปนอนตามอพาร์ทเมนต์หรือห้องเช่าจากเจ้าของห้อง โดยเฉพาะการจองห้องพักจากเว็บไซต์ airbnb กันใช่ไหมครับ!!! แน่นอนว่าการจองกับคนท้องถิ่นก็จะได้ห้องที่ใหญ่กว่าโรงแรมซะเป็นส่วนใหญ่...แต่บางครั้งก็มีปัญหาที่ตามมา คือ หลายๆห้องที่ให้เราพักเนี่ย...เจ้าของอาจจะเอาไว้อยู่เองน่ะสิ! ดังนั้นคำสั่งต่างๆบนแผงควบคุมก็มีโอกาสเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆนั่นเองละครับ (จ๊ากกกกกก O_O) ถ้าห้องไหนเจอเจ้าของแนะนำก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ได้แนะนำก็ต้องเปิดหาตามอินเตอร์เนตหรือลองมั่วดู (แต่นี่ไง เขียนบล็อกนี้มาให้เพื่อการนี้แหละ ต่อไปนี้ไม่ต้องกดมั่วละ เย้!!!)

สำหรับแผงควบคุมแบบติดผนังนี้ ปัจจุบันมีออกมาหลายรุ่นมากๆ อย่างในภาพก็ถือว่าใช้ง่ายและไม่ซับซ้อน หาได้ง่ายตามสนามบินใหญ่ๆหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำแล้วล่ะครับ อย่างไรก็ตามขอบอกว่า มันยังมีปุ่มที่ advance กว่านี้อีกเช่น ปุ่มตัวโน้ต คือ เจ้าปุ่มนี้ไม่ได้เล่นดนตรีหรอกครับ แต่มันจะเป็นเสียงท่อน้ำไหลโจ๊กๆโครกๆแบบปลอมๆ เพื่อกลบเสียงเวลาเรา "ทิ้งบอมบ์แบบหนักหน่วง" นึกออกไหมครับ ประเภทนั่งปั๊บมีเสียงเลย ก็ได้เจ้าปุ่มนี้แหละครับ ช่วยกลบเสียงปู้ดป้าดของเรานั่นเอง แถมบางรุ่นจะมีเซนเซอร์จับการทำงาน ถ้าเรานั่งแล้วเสียงท่อน้ำอาจจะมาเลยครับ ส่วนพอเราทำธุระเสร็จแล้วเสียงยังไม่หยุด ตัวเราก็สามารถกดปุ่ม 音停止 (Sound stop) ก็ได้ เป็นอันจบครับ

--สุดท้ายก็เป็นฟังก์ชั่นชักโครกอัตโนมัติก็จะมีหน้าตาประมาณภาพด้านบนนี้ (อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละยี่ห้อนะครับ)

สังเกตตัวอักษร 流す (บางทีจะเป็นอักษรฮิรากานะ ながす) จะแปลว่า Flush หรือ "กดชักโครก" ครับ ถ้าเจอเซนเซอร์แบบนี้เอามือไปแตะก็จบแล้ว ไม่ต้องมองหาก้านกดชักโครกให้เหนื่อยใจหรือมือเปื้อนอีกต่อไป!!!

เป็นอย่างไรกันบ้างครับเพื่อนๆ สำหรับการถอดรหัสคำแปลบนส้วมอัตโนมัติของแดนอาทิตย์อุทัย?? ผมก็หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทุกคนโดยเฉพาะการเป็นคู่มือช่วยแปลคำสั่งของส้วมอัตโนมัติให้เพื่อนๆสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและเข้าใจมากขึ้น (รวมถึงไม่โดนน้ำฉีดใส่หน้าหรือโดนน้ำร้อนลวกด้วยนะครับ) ทั้งนี้ผมขอย้ำสักนิดว่า "คำสั่งที่ปรากฏในภาพ เป็นคำสั่งเฉพาะรุ่นของส้วมนั้นๆครับ รูปแบบของการวางตำแหน่งหรือฟังก์ชั่นต่างๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามที่บริษัทผู้ผลิตสุดแท้จะดีไซน์ออกมาขายครับ" ดังนั้นโปรดอย่าจำตำแหน่งของคำสั่งเลย แต่อยากให้จำคันจิของแต่ละคำสั่งมากกว่า หรือจะถ่ายรูปไว้ก็ได้ครับ ไม่ว่ากัน อิอิ!! สำหรับบล็อกนี้ โอทารุขอจบเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่เร็วๆนี้ครับ!!!!!

​ภาพปก https://thewirecutter.com/reviews/best-bidet-toilet-seat-washlet/

ภาพประกอบจาก goinjapanesque

ภาพประกอบที่ลงลายน้ำไว้แล้วมาจากกล้องของโอทารุ ใครจะนำไปใช้เชิงพาณิชย์กรุณาขออนุญาตก่อนนะครับ


ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com