e เรื่องทั่วไป

มารู้จักหน่วยวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นกันเถอะ!

มารู้จักหน่วยวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นกันเถอะ!

By , Friday, 21 June 2019

​สวัสดีครับเพื่อน ๆ ในช่วงหลังๆมานี้ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีข่าวแผ่นดินไหวที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและมีการเผยแพร่ออกสื่อต่าง ๆ จนบางครั้งมีออกตามทีวีหรือเพจท่องเที่ยวต่าง ๆ ในฝั่งไทยด้วย แน่นอนว่าแต่ละครั้งก็มีแต่คนภาวนาให้ไม่มีอะไรรุนแรงมากและไม่มีการเสียชีวิตครับ ขณะเดียวกันระบบเตือนภัยของญี่ปุ่นก็มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากและช่วยเตือนภัยให้กับประชาชนหลายครั้ง ทว่าเพื่อน ๆ ทราบกันไหมครับว่า ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีหน่วยวัดระดับความแรงของแผ่นดินไหวที่ชาวญี่ปุ่นรู้กันทั่วไปด้วย โดยหน่วยวัดดังกล่าวเรียกว่า ชินโดะ แต่เกณฑ์ระดับความรุนแรงอาจจะไม่ตรงกับหน่วยวัดที่บ้านเราที่ใช้หน่วยแมกนิจูด (Magnitude) บนพื้นฐานของมาตราริกเตอร์ ดังนั้นในวันนี้โอทารุจึงมาเขียนบล็อกความรู้นี้ให้เพื่อน ๆ ที่จะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในระยะสั้น ๆ ได้รู้จักและทำความเข้าใจกับหน่วยวัดของญี่ปุ่นมากขึ้น เผื่อเวลาดูข่าวหรือติดตามสถานการณ์จะได้เกิดความเข้าใจมากขึ้นนั่นเองล่ะครับ!

เมื่อกล่าวถึงแผ่นดินไหว ผมเชื่อว่า​บ้านเราก็เริ่มให้ความสนใจมาตั้งแต่ปีที่เกิดสึนามิที่ภูมิภาคโทโฮคุเมื่อปี 2011 ใช่ไหมครับ แต่ตอนนั้นหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามันมีแผ่นดินไหวที่รุนแรงมาเตือนก่อนที่จะเกิดสึนามิครับ! แน่นอนว่าความเสียหายนั้นต้องบอกว่าอยู่ในระดับพังพินาศจริงๆ ทุกวันนี้บางเมืองก็ยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่แม้จะผ่านมาเกือบ 10 ปีก็ตาม ผมก็ได้แต่เอาใจช่วยอยู่ห่างๆจากทางเมืองไทยนี่ล่ะครับ!

เกริ่นมาเยอะละ เอาเป็นว่าเรามารู้จักคำว่า ชินโดะแบบคร่าวๆ กันครับ --> ชินโดะ เป็นหน่วยวัดความแรงเวลาที่ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวโดยชินโดะจะวัดระดับจากการสั่นสะเทือนของจุดนั้นๆบนพื้นผิวของโลก ซึ่งระดับความรุนแรงจะแบ่งเป็นตัวเลขจากเลข 0-7 ทว่าหน่วยวัดชินโดะนี้จะมีใช้เพียงแค่ที่ญี่ปุ่นและไต้หวันเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆทั่วโลกจะใช้หน่วยวัดเป็นแมกนิจูด ซึ่งเป็นหน่วยวัดพลังงานที่ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวปล่อยออกมา โดยหน่วยวัดจะเริ่มตั้งแต่ 0-9 เป็นมาตรฐานครับ ​

ที่ญี่ปุ่น เวลาเราดูทีวี ถ้าใครเป็นเพียงนักท่องเที่ยวอาจจะมีอาการงงเพราะในจอเวลาขึ้นภาพแผนที่ญี่ปุ่น จะมีตัวคันจิและคาตาคานะที่แอบงงหน่อย ไหนๆผมจะบอกเรื่องชินโดะอยู่แล้วก็จะมาไขข้อข้องใจในส่วนสำคัญตรงนี้เพิ่มเติมด้วยครับ

​1. 震源 อ่านว่า Shingen แปลตรงตัวคือ ศูนย์กลาง(ที่เกิดแผ่นดินไหว) ปกติทีวีญี่ปุ่นจะใช้ตัวกากบาทแดง ตามด้วยคันจิที่อธิบายว่ามันเกิดขึ้นแถวไหน 

2. 深さ อ่านว่า Fukasa แปลว่า ความลึกจากระดับผิวดิน ในภาพนี้คือ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดลึกลงไปจากบนดิน 10 กิโลเมตร (บางสำนักข่าวจะใช้อักษรเป็นคาตาคานะ (キロ) แทนก็มีครับ

3. สังเกตตัวอักษร M ให้ดีครับ นั่นแหละ หน่วยแมกนิจูด ที่ญี่ปุ่นจะแสดงทั้งสองแบบด้วย

4. 震度 อ่านว่า Shindo​ นี่แหละครับไฮไลต์ที่เราต้องรู้ ชินโดะแต่ละระดับจะมีสีที่แตกต่างกันและรายชื่อเมืองที่มีระดับต่างๆก็จะแสดงอยู่หน้าจอทีวีด้วย (ในภาพนี้แสดงชื่อเมืองแค่ชินโดะระดับ 3-4)

5. 津波 อ่านว่า Tsunami ก็สึนามิหรือคลื่นยักษ์นั่นแหละครับ (ในรายงานข่าวนี้แจ้งว่าครั้งนี้ไม่มีแจ้งเตือนสึนามิครับ) 

นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทีวีในญี่ปุ่นมักจะรายงานข่าวให้เราทราบครับ ก็หวังว่าครั้งต่อไปหากเราไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเปิดเจอรายการก็น่าจะช่วยให้เราเข้าใจได้ในระดับหนึ่งนะครับ และภาพต่อไปนี้จะเป็นตารางอธิบายความรุนแรงของชินโดะในแต่ละระดับครับ

​ระดับ 0 : ไม่มีใครรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน

ระดับ 1 : บางคนที่อยู่ในอาคาร/บ้านอาจรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนนิดหน่อย

ระดับ 2 : หลายๆคนในอาคาร/บ้านเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน วัตถุที่ห้อยอยู่กับเพดานจะเริ่มแกว่งเบาๆ เช่น โคมไฟ

ระดับ 3 : คนที่อยู่ในอาคารส่วนใหญ่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน สายไฟเริ่มมีการสั่น จานชามที่เก็บในตู้เริ่มสั่นเล็กน้อย

ระดับ 4 : คนทั่วไปรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โคมไฟแกว่งไปมาอย่างชัดเจน คนที่นอนอยู่อาจรู้สึกตัวและตื่นขึ้นมาได้ วัตถุที่ไม่มีการยึดติดแน่นหนาอาจตกหล่น (เช่น แจกัน) ส่วนคนที่เดินตามถนนจะเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเช่นกัน

หมายเหตุ : ชินโดะระดับ 0-4 นี้ค่อนข้างเกิดขึ้นบ่อยครับ หลายๆคนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นอาจจะชินไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ชินโดะในระดับ 5-7 ที่ผมจะอธิบายต่อนี้จะเริ่มมีความรุนแรงน่ากลัวและเราควรให้ความสำคัญครับ!

ระดับ 5 ล่าง : คนส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกตื่นกลัวและเริ่มหาวัตถุเพื่อยึดจับหรืออาจเริ่มคิดหาทางหนีออกจากอาคาร/บ้าน เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นเริ่มเคลื่อนไหวได้เอง หนังสือในชั้นวางอาจเริ่มตกลงมา และกระจกหน้าต่างจะเริ่มสั่น

ระดับ 5 บน : คนในอาคาร/บ้านรู้สึกว่าถ้าไม่ยึดเกาะวัตถุแล้วจะเดินได้ยาก เฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุที่มีน้ำหนักมากอาจล้มลงได้ เช่น ตู้ขายน้ำอัตโนมัติ ชั้นวางหนังสือ รวมทั้งจาน/ชามในตู้จะสั่นไหวจนหล่นลงมาแตก กำแพงคอนกรีตที่ลงฐานไม่แน่นอาจพังทลายลงมา ส่วนคนที่กำลังขับรถจะเลี้ยวรถได้ยากกว่าปกติ

ระดับ 6 ล่าง : คนจะรู้สึกว่าการยืนทำได้ยาก เฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆที่ไม่ได้ยึดติดจะเริ่มขยับ ประตูอาคาร/บ้านเริ่มมีการคดงอและหัก (ทำให้เปิดประตูออกมาไม่ได้) กระเบื้องหลังคาหรือกระจกมีการสั่นไหวรุนแรงและอาจแตกกระจายหรือตกลงมาจากหลังคา อาคาร/บ้านที่ไม่ได้ทำโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงหรือเป็นบ้านไม้ ตัวบ้านอาจจะสั่นไหวหรือทรุด ส่วนอาคาร/บ้านที่รับแรงสั่นสะเทือนได้มากจะเริ่มมีการสั่นสะเทือน

ระดับ 6 บน : ผู้คนไม่สามารถเดินได้ ต้องคลานและอาจถูกแรงสั่นสะเทือนดันให้ตัวลอยไปบนอากาศแล้วกระแทกวัตถุอื่นๆได้รับบาดเจ็บได้ (อารมณ์แบบนั่งเครื่องบินแล้วตกหลุมอากาศน่ะครับ) เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ยึดติดจะเคลื่อนไหวได้และมีโอกาสล้มลงมาสูง อาคาร/บ้านที่ไม่ได้ทำโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงหรือเป็นบ้านไม้อาจถล่มลงมา ส่วนอาคาร/บ้านที่รับแรงสั่นสะเทือนได้มากจะเริ่มมีรอยแตกร้าวของโครงสร้าง

ระดับ 7 : เป็นระดับสูงสุดของชินโดะ ความรุนแรงจะมีมากที่สุด คือ อาคาร/บ้านที่ไม่ได้ทำโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงหรือเป็นบ้านไม้จะถล่มลงมา ส่วนอาคาร/บ้านที่รับแรงสั่นสะเทือนได้มากอาจมีโอกาสถล่ม เสาไฟฟ้าหักโค่น ผู้คนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ แผ่นดินจะมีรอยแยกขนาดใหญ่ และจะมีดินถล่มในหลายพื้นที่

ความรุนแรงในระดับ 5-7 นี้ ปกติทางญี่ปุ่นจะใช้โรงเรียน/สนามกีฬาประจำเมืองหรือลานโล่งๆมาทำเป็นศูนย์อพยพหรือเป็น center ในการรวมพลครับ กรณีที่เราฟังวิทยุได้ แนะนำว่าลองฟังดูก็จะดีเพราะบางครั้งที่มีแผ่นดินไหวรุนแรงก็จะมีการประกาศทางวิทยุด้วย (เพราะ internet พังนั่นเอง) โดยปกติพื้นฐานก็คือ หากเราไปเที่ยวแล้วเกิดอะไรขึ้น ให้ตั้งสติแล้วรีบออกมาจากอาคารครับ อย่าห่วงของส่วนตัวมากจนเกินไป ที่สำคัญอย่าใช้ลิฟต์นะครับไม่ว่าจะอยู่ตึกสูงแค่ไหนเพราะโอกาสที่แผ่นดินไหวซ้ำแล้วลิฟต์ตกลงมาก็มีความเป็นไปได้ครับ จากนั้นก็รอคำสั่งจากเจ้าหน้าที่หรืออพยพตามคนในเมืองนั้นไปครับ  

และทั้งหมดนี้ก็คือความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่ผมนำเสนอให้เพื่อนๆทราบเป็นข้อมูลกันนะครับ ไปครั้งหน้าจะได้เตรียมตัวรับมือกันได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้วิตกจริตจนเกินไปแบบว่ากลัวจนไม่กล้ามาเที่ยวนะครับ เพราะญี่ปุ่นแม้จะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวสูงแต่ญี่ปุ่นก็มีการเฝ้าระวัง การซ้อมระวังภัยและการออกแบบอาคารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอยู่เสมอครับ เราไปเที่ยวก็อุ่นใจได้ระดับนึงเลยล่ะ ดังนั้นไม่ต้องคิดมากแล้วออกไปเที่ยวญี่ปุ่นกันนะคร้าบบบบบบ!!!

ภาพปกจาก irpi.eu 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก accessj, Japan Meteorological Agency, inquisitr และภาพจาก facebook ของอาจารย์แฟนต้า Thanakorn JaisukSakuldee