jidouu-2

​สัปดาห์นี้โอทารุจะขอเล่าให้ฟังถึงเรื่องใกล้ตัวเพื่อนๆทุกคนทั้งที่อยู่ในญี่ปุ่นและหลายๆประเทศทั่วโลกรวมถึงเมืองไทยกันครับ เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาๆแต่ผมเห็นว่าไม่มีใครเขียนถึงมากมายนัก ก็เลยไปค้นหาข้อมูลมาเขียนให้อ่านกันเป็นเกร็ดความรู้ดีกว่า โดยเรื่องราวในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "กำเนิดตู้ขายของอัตโนมัติในประเทศญี่ปุ่น" และไม่ต้องห่วงนะครับ ไม่เขียนข้อมูลวิชาการอะไรหรอก เอาอ่านง่ายๆเพลินๆนี่แหละ  

​จริงๆแล้วต้องบอกก่อนว่าตู้พวกเนี้ย มันมีมาเป็นร้อยปีแล้วล่ะ แต่สมัยก่อนก็ยังมีกลไลง่ายๆไม่ซับซ้อนนักแล้วก็ไม่มีลูกเล่นมากนัก โดยตู้ขายของอัตโนมัติตู้แรกที่เราหยอดเงินใส่เข้าไปเพื่อซื้อนั้น มีต้นกำเนิดที่สหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1883 โดย Percival Everittt ครับ ตู้ตัวแรกที่ออกมานั้นก็คือ ตู้ขายโปสการ์ด และพอมันออกมาให้สาธารณชนได้เห็นแล้วก็ได้รับความนิยมมาก เจ้าตู้นี้ก็ถูกสั่งสร้างแล้วไปใว้ตามสถานีรถไฟหรือที่ทำการไปรษณีย์ในอังกฤษหลายแห่งเลยล่ะครับ (เอาภาพประกอบที่ใกล้เคียงไปชมนะครับ หาตัวแรกไม่ได้)

​ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น สมัยปี 1880s ก็เป็นสมัยเมจิที่กำลังพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเทียบเท่ากับชาติตะวันตก แน่นอนว่า ระบบต่างๆทั้งสาธารณูปโภค ถนนหนทาง+รถไฟ การแพทย์ การเรียน การอุตสาหกรรมก็ได้รับการพัฒนาทั้งสิ้น และการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ก็ทำให้ต่อมาได้มีนักประดิษฐ์คิดค้นเจ้าตู้ขายสินค้าอัตโนมัติขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ คุณ Tawaraya Takashichi และตู้ที่เขาประดิษฐ์เป็นตู้แรกของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็คือ "ตู้ขายบุหรี่" เมื่อปี ค.ศ. 1888 ที่เมือง Shimonoseki พร้อมจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อย อ้อ! บอกไว้ก่อนว่ากลไกในยุคแรกนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร พอเราหยอดเหรียญลงไป (สมัยนั้นไม่รับธนบัตรนะครับ) กลไกก็จะดันเอาบุหรี่/แสตมป์หรือไปรษณีย์ออกมาซึ่งไม่ต้องมีเรื่องของพลักงงานไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย

อย่างไรก็ตามตู้ขายบุหรี่ตัวแรกของประเทศนั้นเสื่อมสภาพไปนานมากแล้ว ทำให้ปัจจุบันนี้สถิติตู้ขายสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในสภาพเป็นชิ้นเป็นอัน คือ ตู้ขายสแตมป์และโปสการ์ด ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1904 โดยผู้ผลิตรายเดียวกัน (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Postal Museum ในกรุงโตเกียว)

​ในเวลาต่อมา ตั้งแต่ช่วงปี 1920s และหลังสงครามโลกเป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็ได้คิดค้นและพัฒนาตู้ขายสินค้าเหล่านี้มาตลอด โดยตู้ที่มาแรงมากๆและได้รับความนิยมที่สุดในสมัยนั้นคือตู้ขายขนม ต่อมาในช่วงปี 1950s ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ตู้ขายน้ำดื่มออกมา สำหรับช่วงแรกๆนั้น อย่าเพิ่งนึกถึงตู้ที่ขายน้ำกระป๋องเยอะๆแบบปัจจุบันนะครับ เพราะตู้ขายน้ำในยุคบุกเบิกนั้นยังเป็นแบบดั้งเดิมคือ มีน้ำผลไม้แบบเดียวต่อตู้แล้วก็มีแท็งก์อยู่บนตู้แล้วก็มีการต่อท่อให้น้ำออกมาเป็นน้ำพุผลไม้ให้คนดู พอใส่เงินเข้าไปก็ได้น้ำผลไม้ออกมา 1 แก้วกระดาษไว้ดื่ม เป็นที่ฮือฮาในสมัยนั้นมาก (ขายแก้วละ 10 เยน) ลองดูรูปประกอบได้เพราะที่ญี่ปุ่นยังมีตู้แบบนี้หลงเหลืออยู่บ้างครับ

​ด้วยความที่ตู้ขายน้ำสามารถทำยอดขายได้ดีมากเนื่องจากได้เปรียบเรื่องความสะดวก (ขายซาลารีมังได้สบายๆ) แถมมีตัวเลือกเยอะ ทางผู้ผลิตก็เลยคิดค้นลูกเล่นใหม่ๆออกมาอีกในช่วงปี 1960s-1970s เช่น ทำตู้ที่ขายน้ำเย็นๆได้ หรือทำตู้ขายน้ำที่ร้อน เช่นตู้กาแฟได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าฤดูกาลในประเทศญี่ปุ่นนั้น เวลาร้อนก็ร้อนบรรลัย เวลาหนาวก็ทรมานมาก มีตู้พวกนี้คอยจำหน่ายสินค้าตามฤดูกาลก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกจริตคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมากครับ ส่งผลให้ยอดการผลิตตู้น้ำพวกนี้สูงมากๆ และอีกอย่างหนึ่งที่นิยมไม่แพ้ตู้ขายน้ำก็คือ "ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ" ใครเคยดูโดราเอมอนหรือการ์ตูนโบราณน่าจะนึกภาพที่เราต้องไปซื้อบุหรี่ตามร้านของชำ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วครับเพราะตู้ขายบุหรี่ก็มีเกลื่อนเหมือนกัน ถึงปริมาณตู้จะไม่เยอะเท่ากับตู้ขายน้ำแต่ตู้ขายบุหรี่ก็มีวางอยู่แบบหาไม่ยากทั่วประเทศญี่ปุ่นแล้วล่ะ

​ปัจจุบันนี้ตู้ขายน้ำได้รับการพัฒนาไปมาก คือ ในหนึ่งตู้สามารถขายได้ทั้งเครื่องดื่มเย็นๆและเครื่องดื่มร้อนๆไปพร้อมกันได้แล้ว (สมัยก่อนต้องแยกประเภท) ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราก็สะดวกขึ้น นอกจากนี้ตู้ขายน้ำรุ่นใหม่หลายตู้ยังใช้ระบบ Touch Screen แทนการกดเบอร์เครื่องดื่มไปเรียบร้อย เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถชำระได้ด้วยบัตร IC ก็ได้ (เงินสดก็ยังรับ) เรียกได้ว่าสะดวกจริงๆ แถมในช่วงหลังๆนี้ ตู้จำหน่ายสินค้าประเภทอื่นๆนอกจากเครื่องดื่มและบุหรี่ก็มีมาให้ชาวไทยอย่างเราแปลกใจเสมอ เช่น ตู้จำหน่ายแกงกะหรี่ ตู้ขายข้าวสาร ตู้จำหน่ายซุป ตู้จำหน่ายเครื่องรางรวมทั้งตู้จำหน่ายพระเครื่อง เป็นต้น  

​ในส่วนของจำนวนตู้ขายสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการเก็บสถิติในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็พบว่าทั้งประเทศมีตู้พวกนี้อยู่ราวๆ "5.5 ล้านตู้" หรือเทียบเท่ากับสัดส่วนประชากรญี่ปุ่น คือ 1 ตู้ต่อ 23 คนเลยทีเดียว (ประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 126 ล้านคนครับ) ทั้งนี้ มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า เจ้าตู้ขายน้ำหรือสินค้าพวกนี้ส่วนใหญ่มันเปิดตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว น่าจะกินไฟน่าดูเพื่อรักษาความเย็นหรือความร้อนรวมทั้งรักษาความสดใหม่ ทำให้ประเทศสิ้นเปลืองพลังงานเป็นจำนวนมาก ทว่า ผู้ผลิตตู้ขายสินค้าพวกนี้ก็ออกมาบอกแล้วว่าตู้รุ่นใหม่ๆกินไฟน้อยลงนะแถมมีระบบประหยัดพลังงานอีกต่างหาก ยังไงก็คุ้มค่าแน่นอนว่างั้น ก็ว่ากันไปละกันเพราะผมเองก็เป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้นแหละ

จริงๆแล้วเรื่องราวของตู้ขายสินค้าพวกนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมครับ แต่ถ้าจะให้เขียนอย่างละเอียดก็เกรงว่าเดี๋ยวเนื้อหาจะยาวเกินไป ก็เลยเอาเนื้อหาคร่าวๆมาฝากไว้เป็นเกร็ดความรู้ก็พอละกัน ถ้าเพื่อนๆมีโอกาสได้ออกไปหยอดเหรียญ/ใส่ธนบัตรหรือแตะบัตรซื้อสินค้าตามตู้พวกนี้ก็ลองสังเกตดูเล่นๆกันนะครับว่าตู้ที่เพื่อนๆใช้นั้นมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง เดี๋ยวนี้หาตู้เก่าๆแบบรับเฉพาะเหรียญเริ่มน้อยลงแล้วในญี่ปุ่น (แต่ก็มีนะ) เท่าที่เห็นตู้สมัยใหม่เดี๋ยวนี้ก็เน้นเทคโนลยีกันหมด เอาเป็นว่าอ่านบล็อกนี้จบแล้วคงได้อรรถรสในการเลือกสินค้ามากขึ้นนะครับ แล้วพบกันใหม่บล็อกหน้า สวัสดีครับบบบบบบ 

เนื้อหาบางส่วนจาก att-japan และ wikipedia

ภาพประกอบจาก wikipedia, asahi, timetoast, unian, flickr, soranews24 และ voolas

ภาพที่มีลายน้ำเป็นของโอทารุ หากจะนำไปใช้เชิงพาณิชย์กรุณาขออนุญาตก่อนนะครับ


ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com