e เรื่องทั่วไป

ไขข้อสงสัย : ทำไมเจ้าหน้าที่รถไฟในญี่ปุ่นต้องชี้นิ้วเป็นประจำ

ไขข้อสงสัย : ทำไมเจ้าหน้าที่รถไฟในญี่ปุ่นต้องชี้นิ้วเป็นประจำ

By , Sunday, 28 April 2019

​สวัสดีครับเพื่อนๆทุกคน สัปดาห์นี้โอทารุขอเขียนเรื่องความรู้ที่น่าจะคลายความสงสัยให้กับเพื่อนๆที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นนะครับ สำหรับความสงสัยที่ว่านั้น ครั้งนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับการชี้นิ้วของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่หลายๆตำแหน่งในญี่ปุ่น ซึ่งถ้ายกตัวอย่างง่ายๆและคนส่วนใหญ่จะเห็นภาพก็คือ เจ้าหน้าที่ของการรถไฟ JR นั่นเอง!

​ก่อนอื่นต้องบอกว่า การชี้นิ้วและพูดนั้น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 指差喚呼 (ชิสะ คังโคะ) หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ pointing and calling มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงเข้าปี 1900s ซึ่งในสมัยนั้นรถไฟยังคงเป็นรถไฟฉึกฉักที่มีเสียงดังและปล่อยควันออกมาตลอด (เชื่อว่าเพื่อนๆน่าจะนึกตามได้ รถไฟไทยก็มีให้เรานั่งตามโอกาสต่างๆครับ) ซึ่งการสื่อสารระหว่างพนักงานในสมัยนั้นก็ลำบากเพราะเสียงรถไฟที่ดังทำให้การสื่อสารระหว่างกันอาจเกิดความผิดพลาดและนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงได้ ต่อมาทางญี่ปุ่นจึงได้คิดค้นระบบดังกล่าวเพื่อ "เพิ่มความปลอดภัย" ขึ้นมาครับ

สำหรับลักษณะพื้นฐานของท่าทางที่ใช้ก็คือ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็แล้วแต่ บุคคลนั้นจะต้องชี้นิ้วไปยังตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังทำพร้อมกับการขานสิ่งนั้นด้วย เช่น พนักงานขับรถไฟกำลังขับรถไฟด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ต้องชี้นิ้วไปที่มาตรวัดพร้อมกับขานว่า "ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" หรือ ชี้ไปที่ตารางรถไฟ เวลา 9 โมง ก็ต้องขานต่อว่า "เวลา 9 โมงเช้า" 

นอกจากพนักงานขับรถไฟที่ใช้ระบบนี้แล้ว พนักงานขับรถเมล์ก็มีการใช้ด้วยเช่นกันครับ (ผมเองก็เคยเจอ) พนักงานขับรถเมล์บางคัน นอกจากเขาชี้นิ้วไปที่ตารางเดินรถแล้วว่าป้ายถัดไปต้องไปถึงกี่โมงแล้วขานเวลา ตอนรถจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เขาก็ต้องพูดด้วยว่า "รถกำลังจะเลี้ยวซ้าย/ขวา"  

ว่าแล้วก็เอาตัวอย่างของพนักงานขับรถไฟ JR ชาวญี่ปุ่นที่ผมถ่ายมาได้ไปดูกันครับ! สำหรับเพื่อนๆที่อยากดูเป็นคลิป ให้คลิกที่นี่ได้เลยจ้า

​การใช้ระบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายๆคนจากประเทศที่ไม่ได้ถูกบังคับให้ใช้ระบบนี้อาจจะมองว่า "ไร้สาระ/งี่เง่า/เยอะ/ปัญญาอ่อน/หุ่นยนต์ชัดๆ" (ขนาดฝั่งตะวันตกในช่วงแรกยังไม่เชื่อมั่นเลยครับ) ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าเคยคิดเหมือนกันว่า "มันทำไปทำไมฟะ?" แต่พอค้นคว้าข้อมูลดูก็น่าสนใจครับ เพราะการใช้ระบบชี้นิ้วและขานนั้น ทาง RTRI (Railway Technical Research Institute : บริษัทวิจัยย่อยของ JR) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า การใช้ระบบนี้กับงานปกติที่ทำประจำวันจะสามารถ "ลดข้อผิดพลาด" ได้ถึง 85% เลยทีเดียว!

สาเหตุที่สามารถลดข้อผิดพลาดได้ก็เพราะการใช้ทั้งนิ้วมือเพื่อชี้และใช้ปากเพื่อขานนั้น ถือเป็นการกระตุ้นโสตประสาทของพนักงานคนนั้นให้เกิดความตื่นตัวได้ ซึ่งมันช่วยลดความอ่อนเพลียจากการขับรถไฟนานๆรวมทั้งช่วยให้พนักงานคนนั้นมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วย ซึ่งเหตุผลที่ว่านี้ผมเองก็เห็นด้วยในระดับหนึ่งเพราะก็เห็นเองกับตาทุกครั้งและรถไฟหรือรถเมล์ในญี่ปุ่นนี่ตรงเวลากันอย่างสม่ำเสมอจริงๆ (ไม่นับเคสฆ่าตัวตายตัดหน้ารถไฟแล้วรถไฟล่าช้านะครับ อันนั้นคนละเรื่องละ)

​ปัจจุบันนี้ระบบดังกล่าว เริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่นๆแล้ว เช่น จีน หรือสหรัฐอเมริกา รวมทั้งล่าสุดอย่างประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่งจะมีรถไฟใต้ดินก็ได้ระบบนี้มาจากญี่ปุ่นเช่นกัน โดยทางจีนนั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นเช่นกัน (เรียกระบบนี้ว่า 指差呼唤) แต่จะมีการใช้ทั้งนิ้วชี้และนิ้วกลางรวมทั้งมีการใช้แขนเพิ่มเข้ามาด้วย (ของญี่ปุ่นเวลาชี้จะใช้แค่นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว) ขณะที่ทางฝั่งอเมริกาก็มีใช้ในระบบ metro ของ New York ครับ 

ทั้งหมดที่ว่ามาฟังดูอาจเป็นเรื่องไกลตัวเราใช่ไหมครับ แต่ผมจะบอกว่า ปัจจุบันระบบชี้นิ้วแบบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการรถไฟเท่านั้นแล้วนะครับ เพราะระบบนี้เป็นการสร้างความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้น วงการอุตสาหกรรมอื่นๆในญี่ปุ่นก็มีการเริ่มประยุกต์ใช้แล้วเช่นกัน นอกจากนี้ผมยังได้ยินว่าบริษัทญี่ปุ่นที่มาตั้งโรงงานในไทยก็เริ่มมีการใช้ระบบชี้นิ้วและขานด้วยล่ะ

​เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบล็อกนี้ ก็หวังว่าเพื่อนๆคงจะได้รับความรู้และความเข้าใจกันนะครับว่าทำไมเวลาไปสถานีรถไฟหรือนั่งรถไฟในญี่ปุ่น พนักงานถึงชี้นิ้วกันตลอดเวลาจนเราเหนื่อยแทน หรือหากใครที่ไม่เคยสังเกตก็ลองสังเกตท่าทางของพนักงานเหล่านั้นบ้างก็ไม่เลวนะครับ แล้วพบกันใหม่กับบล็อกหน้าคร้าบบบบบบบ

ที่มาของเนื้อหาบางส่วนจาก wikipedia, curiosity

ภาพปกจาก theweekendlens

ภาพประกอบจาก wikipedia ส่วนภาพที่มีลายน้ำเป็นของผมทั้งหมดครับ