e เรื่องทั่วไป

วิธีเขียนไปรษณียบัตร ฉบับญี่ปุ่น

วิธีเขียนไปรษณียบัตร ฉบับญี่ปุ่น

By , Thursday, 02 December 2021

          ใครรู้จักไปรษณียบัตรบ้างคะ

          はがき hagaki หรือไปรษณียบัตร ฟังดูเก่ามาก ๆ เลยใช่ไหมคะ บางคนก็อาจจะไม่คุ้นหู เพราะสมัยนี้คนไม่ค่อยนิยมเขียนกันแล้ว แต่ก็ยังมีคนญี่ปุ่นบางคนเขียนไปรษณียบัตรอยู่นะคะ

          วันนี้อยากแนะนำให้ทุกคนรู้ถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนไปรษณียบัตร วิธีการเขียน และประเภทของไปรษณียบัตรทักทายตามฤดูกาลกันค่ะ

          ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก はがき hagaki ก่อนค่ะ ภาษาไทยเราเรียกว่า ไปรษณียบัตร

          ซึ่งไปรษณียบัตรจะมีแผ่นเดียว แบ่งเป็นหน้า-หลัง ส่วนหน้าเราจะเรียกว่า 表面 omotemen ส่วนหลังเราจะเรียกว่า 裏面 uramen

          การเขียนไปรษณียบัตร เราสามารถเขียนได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอนค่ะ ถ้าเขียนด้านหน้าเป็นแนวตั้ง ส่วนของด้านหลังเองก็ต้องเป็นแนวตั้งเช่นกันค่ะ ถ้าด้านหน้าเขียนเป็นแนวนอน ด้านหลังเองก็ต้องเป็นแนวนอน เพื่อให้คนที่รับไปสามารถอ่านได้อย่างสะดวกนั่นเองค่ะ

          วัตถุประสงค์ของการเขียนไปรษณียบัตรหลัก ๆ เลย เพื่อแจ้งให้อีกฝ่ายทราบว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อถามถึงทุกข์สุข เป็นต้น และเนื่องจากคนญี่ปุ่นนั้น ให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ไว้ จึงมีการส่งไปรษณียบัตรกันอยู่ตลอดค่ะ

          อย่างเช่น ตอนเราย้ายบ้านกะทันหัน ไม่สามารถแจ้งให้คนรอบข้างรับรู้ได้ทัน ก็จะใช้ไปรษณียบัตรบอกค่ะ และตามธรรมเนียมหากมีใครส่งมาให้เราแล้ว เราก็ต้องส่งกลับคืนให้อีกฝ่ายค่ะ

          ซึ่งวิธีการเขียนไปรษณียบัตรนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบของไปรษณียบัตรเลย แต่สิ่งที่ส่วนหน้าไปรษณียบัตร หรือ 表面 omotemen จะมีเหมือนกันเลย คือ

      1. แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร
      2. รหัสไปรษณีย์ ทั้งของผู้รับ และผู้ส่ง
      3. ที่อยู่ผู้รับ
      4. ชื่อผู้รับ
      5. ที่อยู่ผู้ส่ง
      6. ชื่อผู้ส่ง

รูปแบบของการเขียนชื่อผู้รับนั้นแตกต่างกันออกไป ดังนี้ 


1. รูปแบบแนวตั้ง เขียนแนวนอน

เครดิตรูปภาพ : https://bizushiki.com/postcard-2#i-2

2. รูปแบบแนวตั้ง เขียนแนวตั้ง 

เครดิตรูปภาพ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

3. รูปแบบแนวนอน เขียนแนวนอน

เครดิตรูปภาพ : https://bizushiki.com/postcard-2#i-2

          รูปแบบที่เห็นบ่อยที่สุดเป็นรูปแบบแนวตั้ง เขียนแนวตั้ง วันนี้เลยขอเสนอแค่วิธีเขียนรูปแบบแนวตั้ง เขียนแนวตั้งค่ะ

โดยมีวิธีการเขียนไปรษณียบัตรแนวตั้ง เขียนแนวตั้งนั้น จะเขียนดังนี้

1. แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร​

          โดยจะติดตรงมุมซ้ายบนของไปรษณียบัตร ซึ่งแสตมป์นี้อาจจะมีลวดลายตามฤดูกาลค่ะ

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/
2. การเขียนชื่อผู้รับ​

          2.1 รหัสไปรษณีย์ของผู้รับ

          กรอกรหัสไปรษณีย์ในช่องที่อยู่มุมขวาบน 7 หลัก

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          2.2 การเขียนที่อยู่ของผู้รับ

          จะเริ่มเขียนที่อยู่ของผู้รับตรงกับช่องรหัสไปรษณีย์ช่องสุดท้าย โดยจะเริ่มเขียนจากด้านขวาไปด้านซ้าย ถ้ามีความยาวที่ต้องเขียนสองแถว อีกแถวจะต้องเขียนให้ตรงกับช่องรหัสไปรษณีย์ช่องที่ 6 และเขียนให้ตัวสุดท้ายของที่อยู่ของแถวที่ 2 ตรงกับแถวแรกค่ะ ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลของไปรษณียบัตร และส่วนของตัวเลขจะต้องเขียนเป็นคันจิ

          การเขียนย่อที่อยู่ของผู้รับจะแสดงถึงการเสียมารยาท แต่สามารถละได้ในกรณีที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันค่ะ

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          2.3 การเขียนชื่อของผู้รับ

          การเขียนชื่อผู้รับจะต้องเขียนให้มีความเด่นที่สุด และตัวสุดท้ายของชื่อจะต้องตรงกับตัวสุดท้ายของที่อยู่ค่ะ นอกจากความชัดเจนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสมดุลของไปรษณียบัตรด้วยค่ะ ซึ่งไปรษณียบัตรสามารถแบ่งการเขียนชื่อผู้รับที่ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ บุคคล, บริษัท และครอบครัวค่ะ

          กรณีเป็นบุคคล จะต้องเติม 様 sama ต่อท้ายชื่อ

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          กรณีเป็นบริษัท แบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. กรณีที่มีการเขียนชื่อผู้รับจะเขียนโดยมีชื่อบริษัท ฝ่าย ชื่อตำแหน่ง และชื่อผู้รับ ตามด้วย 様 sama วิธีการเขียน ดังนี้

  • ชื่อบริษัทจะเขียนอยู่ระหว่างช่องที่ 3 และ ช่องที่ 4 ของรหัสไปรษณีย์
  • ชื่อฝ่ายจะเขียนอยู่ระหว่างช่องที่ 2 และ ช่องที่ 3 ของรหัสไปรษณีย์
  • ชื่อตำแหน่งและชื่อผู้รับจะเขียนในแถวเดียวกัน และตามด้วย 様 sama โดยจะเขียนให้ตรงกับช่องที่ 1 ของรหัสไปรษณีย์
  • ชื่อผู้รับจะเขียนด้วยตัวใหญ่กว่าส่วนประกอบอื่นค่ะ

〇〇株式会社 △△部 部長(NAME) 様

〇〇kabushikigaisha △△bu buchou(NAME) sama

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/
2. กรณีไม่เขียนชื่อผู้รับ แต่เขียนฝ่ายจะเขียนโดยมีชื่อบริษัท ฝ่าย และตามด้วย 御中 onchuu ใช้กรณีจ่าหน้าซองเพื่อเป็นการให้เกียรติ วิธีการเขียน ดังนี้​
  • ชื่อบริษัทจะเริ่มเขียนระหว่างช่องที่ 3 และช่องที่ 4 ของรหัสไปรษณีย์
  • ชื่อฝ่ายตามด้วย 御中 onchuu ในแถวเดียวกัน โดยจะเริ่มเขียนระหว่างช่องที่ 1 และช่องที่ 2 ของรหัสไปรษณีย์
  • เขียนด้วยตัวใหญ่เท่ากันทั้งหมดค่ะ

〇〇株式会社 △△部御中

〇〇kabushikigaisha △△bu onchuu

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/
3. กรณีที่ไม่เขียนชื่อผู้รับ ไม่เขียนฝ่าย แต่เขียนชื่อบริษัท จะเขียนดังนี้ ชื่อบริษัทตามด้วย 御中 onchuu วิธีการเขียน ดังนี้​
  • ชื่อบริษัทตามด้วย 御中 onchuu โดยจะเริ่มเขียนระหว่างช่องที่ 2 และช่องที่ 3 ของรหัสไปรษณีย์
  • เขียนด้วยตัวใหญ่

〇〇株式会社御中

〇〇kabushikigaisha onchuu

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          กรณีที่เป็นครอบครัว แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

1. กรณีมี 2 คน

  • เขียนชื่อคนแรก เริ่มเขียนจากนามสกุล ชื่อ และตามด้วย 様 sama โดยเขียนให้อยู่ระหว่างช่องที่ 2 และ ช่องที่ 3 ของรหัสไปรษณีย์
  • คนที่สองเขียนแค่ชื่อและตามด้วย 様 sama โดยเขียนในระนาบเดียวกับชื่อของคนแรก โดยเขียนให้ตรงกับช่องแรกของรหัสไปรษณีย์ หรือ อาจจะเยื้อง ๆ ออกมาเพื่อดูความสมดุลค่ะ
เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/
2. กรณีเขียนทั้งครอบครัว ​
  • เขียนนามสกุล และตาม 家御一同様 ie go ichido sama โดยเขียนให้ตรงกับช่องแรก และ ช่องที่ 2 ของรหัสไปรษณีย์ 
เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

3. การเขียนชื่อที่อยู่ผู้ส่ง

          3.1 รหัสไปรษณีย์ผู้ส่ง

          กรอกรหัสไปรษณีย์ในช่องที่อยู่มุมซ้ายล่าง 7 หลัก

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          3.2 การเขียนที่อยู่ของผู้ส่ง

          เขียนให้ตรงกับแสตมป์ โดยเขียนจากด้านขวาไปทางด้านซ้าย ส่วนของตัวเลขจะต้องเขียนเป็นคันจิ

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          3.3 การเขียนชื่อของผู้รับ

          โดยจะเริ่มเขียนจากตัวที่ 2 ของแถวแรก โดยให้ตัวสุดท้ายของชื่อตรงกับตัวสุดท้ายของแถวแรก

เครดิตรูปภาพต้นฉบับ : https://www.nengasyotyuu.com/mamechishiki/card/

          หลังจากที่เรารู้วิธีการเขียนด้านหน้าไปแล้ว ส่วนต่อไปเป็นการเขียนไปรษณียบัตรส่วนของด้านหลัง 裏面 uramen

          ส่วนของ 裏面 uramen จะเป็นส่วนของเนื้อหา ซึ่งประกอบไปด้วย

  • คำทักทาย
  • เนื้อหาบอกเล่าความเป็นอยู่
  • วันเดือนปีที่ส่ง

          เนื้อหาส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับช่วงที่เราจะเขียนส่งไปด้วยค่ะ โดยวันนี้จะเสนอเกี่ยวกับไปรษณียบัตรทักทายตามฤดูกาลค่ะ 

1. การถามทุกข์สุขในฤดูร้อน 暑中見舞い shochuu mimai มีช่วงเวลาส่งคือ หลังจากหมดหน้าฝน และก่อนเข้าฤดูใบไม้ร่วงประมาณ 18 หรือ 19 วัน

2. การถามทุกข์สุขในช่วงที่ยังคงหลงเหลือความร้อนอยู่ 残暑見舞い zansho mimai จะส่งช่วงที่เข้าฤดูใบไม้ร่วงมาแล้วแต่อากาศยังคงร้อนอยู่ ซึ่งจะเป็นช่วงปลายฤดูร้อน ประมาณวันที่ 23 สิงหาคม - 6 กันยายน

3. การถามทุกข์สุขในฤดูหนาว 寒中見舞い kanchuu mimai ซึ่งเราจะส่งในช่วงฤดูหนาวค่ะ ถ้าเราได้รับคันจูมิไมจากอีกฝ่ายแล้ว แต่ว่าใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่เราสามารถส่งตอบกลับด้วย ส.ค.ส. (ข้อ 5) ได้ค่ะ และถ้าหากเราได้รับส.ค.ส. แต่ไม่ได้ตอบในช่วงที่สามารถส่งส.ค.ส.ได้ เราก็สามารถตอบกลับด้วยคันจูมิไมแทนได้เหมือนกันค่ะ

เครดิตภาพ : https://www.nengasyotyuu.com/bunrei/season/season_02/

4. การถามทุกข์สุขในช่วงที่ยังคงหลงเหลือความหนาวอยู่ 余寒見舞い yokan mimai ตามชื่อเลย จะใช้ในช่วงที่เข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่ว่ายังคงมีอากาศที่หนาวอยู่ เพื่อถามทุกข์สุขของอีกฝ่าย

เครดิตภาพ : https://www.nengasyotyuu.com/bunrei/season/season_02/

5. ส.ค.ส. 年賀状 nengajyou ส่งได้ตั้งแต่ก่อนวันปีใหม่ไปจนถึงวันที่ 7 มกราคม แต่บางพื้นที่ก็จนถึงวันที่ 15 มกราคม ถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้วยังไม่ส่งกลับ เราสามารถใช้คันจูมิไมหรือภาษาไทยคือ การถามทุกข์สุขในฤดูหนาว (ข้อ 3) แทนได้ และความพิเศษของส.ค.ส. นอกจากจะมีตัวเลขที่เป็นรหัสไปรษณีย์แล้ว ยังมีตัวเลขที่ไม่ใช่รหัสไปรษณีย์อยู่ด้วยค่ะ เลขเหล่านี้คือ ลอตเตอร์รี นั่นเอง

เครดิตรูปภาพ : https://shiraberu.net/864.html

6. ไปรษณียบัตรขอโทษอีกฝ่ายตอนช่วงที่อีกฝ่ายไว้ทุกข์ 喪中欠礼 mochuu ketsurei หากเราเผลอส่ง ส.ค.ส. ไปให้อีกฝ่ายโดยที่ไม่ทราบว่าอีกฝ่ายอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ เราสามารถส่งคันจูมิไม (ข้อ 3) เพื่อขอโทษและกล่าวแสดงความเสียใจได้ค่ะ หรือหากเราทราบอยู่แล้ว ว่าอีกฝ่ายกำลังไว้ทุกข์ เราก็สามารถเขียนไปรษณียบัตรไปแสดงความเสียใจได้ค่ะ

เครดิตภาพ : https://www.nengasyotyuu.com/bunrei/season/season_02/

          สิ่งที่เราควรใส่ใจอีกหนึ่งสิ่งคือ เราจะเลือกรูปของไปรษณียบัตรให้เข้ากับเนื้อหาของไปรษณียบัตรค่ะ เช่น ไปรษณียบัตรฤดูร้อน เราก็จะเลือกรูปที่มีของที่สื่อถึง ฤดูร้อน อย่างแตงโม หรือว่ากระดิ่ง เป็นต้น

          ใกล้จะถึงเทศกาลปีใหม่แล้ว ถ้าใครได้รับไปรษณียบัตรจากคนญี่ปุ่น หรือมีโอกาสได้ลองเขียนไปรษณียบัตรไปหาคนญี่ปุ่น ลองนำวิธีการเขียนนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ


ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com