t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

How to ขึ้นรถไฟญี่ปุ่นให้ราบรื่น

How to ขึ้นรถไฟญี่ปุ่นให้ราบรื่น

By , Wednesday, 06 May 2015

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน และแล้วก็มาถึงบล็อกหมายเลขหกของ Otaru Taichou แล้วนะครับ ไม่อยากเชื่อเลยว่าเขียนมาห้าบล็อกแล้ว ต้องขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่สนับสนุนและแชร์งานเขียนของผมให้หลายๆคนได้อ่านกัน สำหรับบล็อกยอดฮิตก็คือ บล็อกแรก เรื่องมารยาทเมื่อไปญี่ปุ่นครับ และบล็อกที่ฮอตที่สุดตั้งแต่ผมเขียนมาคือ บล็อกที่ห้า เรื่องการเตรียมตัวไปญี่ปุ่นให้ราบรื่น มีเสียงตอบรับและกดแชร์หลายร้อย แม้ฟังดูไม่มากแต่คนอ่านหลักพันก็ทำให้คนเขียนดีใจแล้วครับ

สำหรับครั้งนี้ผมจะ focus เข้าไปถึงการเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่นละ จะไม่วนอยู่แค่สนามบินเหมือนที่ผ่านๆมาครับ คิดว่าบล็อกนี้คงทำเป็นเกร็ดความรู้เป็นข้อๆไป จะได้อ่านกันสนุกๆครับ เอาล่ะ! ลุยอ่านกันเลย!!!

 

พูดถึงญี่ปุ่น ตอนนี้คงติดลมบนไปแล้ว แน่นอนว่าเมืองหลวงอย่างโตเกียวก็คือจุดหมายแรกของนักท่องเที่ยวมือใหม่ (และมือเก่าที่ติดใจโตเกียวก็มีไม่น้อย) ส่วนจุดหมายรองลงมาก็ไม่พ้น โอซาก้า เกียวโต/นารา และตามติดมาด้วย ซัปโปโรและเมืองรอบๆในเกาะฮอกไกโด ครับ...และผมก็เห็นว่าเรื่องการใช้รถไฟที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้เพื่อนๆได้เที่ยวในเมืองต่างๆได้สนุกขึ้น ก็ขอเชิญเลื่อนลงมาเลยครับ

Introduction 

-พูดถึงรถไฟ ผมคิดว่ามากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่น่าจะนิยมการนั่งรถไฟเป็นหลักแน่ๆ (แม้หลังๆจะเริ่มมีการเช่ารถมากขึ้นก็ตาม) ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะระบบรถไฟของญี่ปุ่นมีเครือข่ายอยู่หนาแน่นทุกภูมิภาคทั้งของ JR และบริษัทเอกชน แถมยังมีชินคันเซนวิ่งผ่านเมืองใหญ่ยอดฮิตอยู่มากมาย (ยกเว้น Sapporo ที่ต้องรอไปถึงปี 2030 โน่น) นอกจากนี้รถไฟญี่ปุ่นยังมีความตรงต่อเวลาสูง ปลอดภัยมาก เรื่องตกรางแทบไม่เคยมี ข่มขืนบนรถไฟนี่แทบไม่ต้องพูดถึง มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว 

-ก่อนอื่นผมขอวิเคราะห์และกล่าวถึงทัศนคติของหลายๆคน (จากประสบการณ์ที่หลายคนติดต่อมาถามผม) เรื่องการใช้รถไฟของญี่ปุ่นเพราะ "มันเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับนักท่องเที่ยวเกือบทุกคนที่ไปญี่ปุ่นด้วยตนเองสำหรับการขึ้นรถไฟ" เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น

1. เปิดเว็บดูแผนผังเส้นทางรถไฟ พูดได้เลยว่า "มึน งง ซับซ้อน ดูไม่เป็น" นี่ฉัน/ตรูกำลังดูอะไรอยู่!!! ใยแมงมุมเรียกบิดาชัดๆ!!!

b2ap3_thumbnail_IMG_5035.JPG

มือใหม่เจออย่างนี้เข้าไป เข่าอ่อนแน่!! ภาพนี้ผมถ่ายจากสถานีรถไฟขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตคันไซครับ

2. พอเจาะข้อมูลเป็นภูมิภาค "โอ้ย Pass ไรเยอะแยะ งง นี่มันรถไฟอะไร ไปไหนบ้าง ฉันจะไปเมืองนี้ ทำไมไม่มีในแผนที่" (มันคงมีหรอกครับ อยากไปเที่ยวแถวฟุกุโอะกะ แต่ไปเปิดเว็บไซต์ JR East มันต้อง JR Kyushu สิคร้าบบบ) 

3. โอ้ย! ดูใน Google คลิกเปิดเจอแต่ภาษาญี่ปุ่น ฉันอ่านไม่ออก ปิดเลย! (ถ้าใจเย็นๆ ชำเลืองตาดูครับ เว็บ JR หรือบริษัทรถไฟเอกชน จะมีเพจภาษาอังกฤษอยู่ตามมุมขอบเพจ ปกติอยู่ฝั่งขวาบนครับ และไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษนะครับเดี๋ยวนี้ ภาษาจีนกลาง เกาหลี ก็มาแรง)

4. ฉันไม่รู้อะไรทั้งนั้น จะซื้อแค่ JR Pass นี่ละ แพงแต่ฉันจะได้ขึ้นขบวนไหนก็ได้ตลอด (ดีครับ ราคาเกือบ 30,000 เยน ถ้าอยู่แค่ในโตเกียวอย่างเดียว เที่ยวประหยัดจริงๆ หมดไม่ถึง 10,000 เยนด้วยซ้ำ ถ้าผมเป็นผู้บริหาร JR นี่ผมดีใจสุดๆ อ้อ! อีกอย่าง JR Pass ก็ไม่ได้ครอบบจักรวาลขึ้นได้ทุกขบวนนะครับ โปรด "อย่าเข้าใจผิด")

5. ไม่ดู ไม่เอา ดูไปก็ไม่เข้าใจ ไปกับทัวร์ดีกว่า (อันนี้แล้วแต่ความชอบครับ ผมก็ไม่ได้บังคับเพราะเงินค่าเที่ยว ท่านผู้อ่านเป็นผู้หาเองจ่ายเอง มิใช่กระผม อิอิ)

นี่แค่ยกตัวอย่างปัญหาสารพันที่เพื่อนๆบ่นให้ผมฟัง ผมก็ยอมรับว่ามันซับซ้อนจริงๆนะสำหรับคนไม่เคยเที่ยวเอง แต่อยากจะบอกว่า "ถ้าตั้งใจศึกษาจริงๆ มันก็จะเข้าใจขึ้นทีละนิด ค่อยๆอ่านและทำความเข้าใจ หรืออ่านกระทู้ท่องเที่ยวตามเว็บบอร์ดบ่อยๆจะเห็นภาพขึ้น ให้เวลากับมันเยอะๆ เดี๋ยวก็เข้าใจเองเพราะเรื่องแผนผังและการใช้รถไฟไม่มีใครเกิดมาแล้วจะเข้าใจทะลุไปหมดหรอก แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังหลงเลยครับ ขอแค่เปิดใจเท่านั้น คุณก็จะได้เห็นโลกของรถไฟที่ประเทศของเราอาจยังไม่ได้เห็นในเร็ววันนี้และประสบการณ์ที่นั่งรถทัวร์อย่างเดียวอาจไม่มีให้นะครับ ผมรับรองว่าคุณผู้อ่านจะต้องชอบครับ ^_^

b2ap3_thumbnail_Japan-Bullet-Train_3058187b.jpg

ศึกษาดีๆ ประสบการณ์ที่คุณจะได้รับเมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่นด้วยรถไฟนั้น ผมบอกได้เลยว่าหาที่เปรียบปานได้ยากนัก

การแบ่งภูมิภาคของรถไฟ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า พูดถึงการรถไฟของญี่ปุ่น มันมีทั้งของ JR-Japan Railways Group (เมื่อก่อนเป็นของรัฐบาลแต่แปรรูปมาเป็นบริษัทแทน) ส่วนบริษัทเอกชนรายอื่นๆ ที่คนไทยคุ้นหูก็มี Keisei, Odakyu, Keikyu, Tokyu, Tobu, Keihan, Hanshin, Hankyu, Kintetsu, Nankai เป็นต้น (จริงๆมีเยอะกว่านี้มาก แต่จะเป็นรายย่อยๆ ผมเลยไม่เอามากล่าว ไม่งั้นคงจะอาเจียนกันพอดี) ทีนี้ในบล็อกนี้ ผมจะขอกล่าวถึง JR เป็นหลักใหญ่ เพราะหลักการขึ้นรถไฟ ดูชานชาลา หรือประเภทของรถไฟก็กล่าวได้ว่า "แทบไม่ต่างกัน" จะมีก็ตั๋วโปรโมชั่น, ตำแหน่งของสถานีรถไฟและรายละละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ส่งผลต่อการเดินทางมากนักครับ

--มาเริ่มกันเลยดีกว่า! ก่อนอื่นดูภาพแล้วศึกษาดูนะครับ จะเห็นว่า JR มีการแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่างๆดังนี้

b2ap3_thumbnail_2019_1503.gif

เครือข่ายของบริษัทรถไฟ JR

1. JR Hokkaido--ครอบคลุมทั้งเกาะฮอกไกโด เมืองสำคัญคุ้นหู เช่น Sapporo, Hakodate, Otaru, Asahikawa, Furano เป็นต้น

2. JR East--ครอบคลุมภูมิภาคโทโฮคุ (ภาคอีสานนั่นแหละครับ) และเขตคันโต เมืองสำคัญคุ้นหูก็คือ Tokyo, Yokohama, Narita, Chiba (Disneyland อยู่ในจังหวัดนี้), Kamakura, Hakone, Nikko, Sendai, Fukushima 

3. JR Central--ครอบคลุมภาคกลาง โดยมีเมืองดังๆคือ Nagoya, Shizuoka, Kanazawa, Toyama, Takayama รวมไปถึง Shirakawago (หมู่บ้านชาวนาที่คนไทยนิยมน่ะแหละครับ แต่รถไฟไปไม่ถึงนะ ต้องต่อรถบัสไปครับ)

4. JR West--ครอบคลุมภาคตะวันออกของประเทศ มีเมืองชื่อดังเยอะ อาทิเช่น Osaka, Kyoto, Nara, Kobe, Hiroshima, Miyajima, Okayama 

5. JR Shikoku--ครอบคลุมเกาะชิโกกุทั้งหมด มีเมืองใหญ่ คือ Takamatsu, Matsuyama, Tokushima

6. JR Kyushu--ครอบคลุมเกาะคิวชู มีเมืองคุ้นหู คือ Fukuoka, Nagasaki, Matsumoto, Kagoshima, Yufuin, Beppu 

*นอกจาก 6 ภูมิภาคนี้ ยังมี JR Freight, RTRI, JR System อีก แต่มันไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลยครับ จึงไม่นิยมนับรวมกับ JR ภูมิภาคหลัก

--ส่วนบริษัทรถไฟของเอกชน การแบ่งภูมิภาคก็อาจแตกต่างกันออกไปครับ แต่ส่วนใหญ่ก็เหมือนกันนั่นแหละ โดยเฉพาะแถบโตเกียว กับโอซาก้า ถ้าคนไม่ได้ใส่ใจจริงๆ ไม่รู้หรอกครับว่ารถไฟคนละบริษัท (นี่เรื่องจริงนะ เพื่อนผมนี่แหละออกปากเอง) เพราะหน้าตารถไฟก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ ตัวสถานีก็ไม่มีอะไรแตกต่างจนชัดเกินไป (ยกเว้นป้ายชื่อบอกบริษัท)

ค้นหาเส้นทางที่ต้องการ

-ปัญหาที่ผมพบเจอบ่อยๆเวลามีคนมาปรึกษาผมก็คือ การที่ "ไม่รู้ตัวเองว่าจะไปเที่ยวไหน รู้แค่ว่าอยากไปญี่ปุ่น" ผมเองก็บอกได้เลยนะครับว่า "มันเหมือนชาวต่างชาติคนนึงบอกอยากมาเมืองไทยนั่นแหละ แต่พอถามลึกลงไปว่า อยากเที่ยวแบบไหนล่ะ--คำตอบที่ได้คือ ความเงียบ ไม่ก็ "ที่คนอื่นเขาไปกัน" -->บอกตรงๆ ว่า "เพลียสุดหัวใจ" ครับ เพราะ "ถ้าคุณไม่รู้ใจตัวเอง แล้วไปเที่ยวถามคนอื่น เขาจะรู้ไหมล่ะว่าคุณต้องการแบบไหน?" อย่างน้อยช่วยกำหนดประเภทการท่องเที่ยวก็ยังดี เช่น เที่ยววัด เน้นช้อปปิ้ง ชมธรรมชาติ บุกสวนสนุก พักผ่อนฮันนีมูน ตะลุยออนเซ็นให้ตัวเปื่อย เข้ามิวเซี่ยม ฝึกสกี ตระเวนกิน ฯลฯ เห็นไหมครับ ขนาดผมยกตัวอย่างแค่นี้ เชื่อว่าคนอ่านบางคนก็หน้าเบ้แล้วเพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการแบบไหนกันแน่..ก็ทุกวันนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย ไม่ได้นิยมใช้บริการบริษัทนำเที่ยวอย่างเดียวแต่จะมีความชอบหรือปัจเจกของแต่ละคนสอดแทรกเข้ามามากขึ้น ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดผมถึงอยากให้ "รู้ตัวเองก่อนถามคนอื่น" ไงครับ!!!b2ap3_thumbnail_where-to-go-from-here.png

จะไปไหนต้องถามตัวเองก่อนถามคนอื่นครับ! 

--เอาล่ะ สมมุติว่า คุณเลือกได้แล้วว่า อยากเที่ยวแบบไหน คุณก็ไปค้นคว้าซะ จะใช้ internet หรือซื้อหนังสือมาอ่านก็ได้ครับ ข้อมูลทุกวันนี้ให้อ่านอีกสิบปีก็ไม่ครบและไม่หมด เพระาทุกอย่างมีการ update เปลี่ยนแปลง แก้ไขตลอดเวลา! ทีนี้ผมจะข้ามไปเรื่องสไตล์ความชอบไปเรื่องเมืองนั้นๆเลยนะ

--พอคุณผู้อ่านได้สไตล์การท่องเที่ยวแล้ว ก็น่าจะรู้ว่า "จะไปเมืองไหนบ้าง" ทีนี้ก็ขอนิมนต์ให้ไปเปิดเว็บไซต์ของ JR หรือบริษัทเอกชนในภูมิภาคนั้นๆครับ ทีนี้ผมขอเน้นเว็บไซต์ JR ก็แล้วกัน เชื่อว่าน่าจะใช้กันบ่อยที่สุด พิมพ์ google ก็ได้ครับ จะ JR ภูมิภาคไหนก็เข้าไป ส่วนเมืองหลักที่ผมเขียนไปนั้น ถ้าคุณผู้อ่านเข้าถูกภูมิภาคยังไงก็เจอครับ ยกเว้น ประเภทสับสนจำเมืองผิดเอง...อันนี้อย่าโทษคนเขียนนะ! 

--เว็บไซต์ของ JR ไม่ต้องห่วงครับ มีภาษาอังกฤษให้แน่นอน แต่ว่าถ้าท่านใดอ่านภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ผมว่าไปอ่านหนังสือเที่ยวภาษาไทยไม่ก็รอตาม Facebook ละกันนะครับ จะได้เข้าใจและเห็นภาพชัวร์กว่า

--อย่างที่เกริ่นไว้ว่าเมืองหลักๆที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกันก็ไม่พ้น โตเกียว โอซาก้า เกียวโต โกเบ นาระ ซัปโปโร ฯลฯ ซึ่งชื่อสถานีรถไฟก็คือชื่อเมืองนั่นแหละ -->แต่! ไม่ใช่ว่าเมืองใหญ่จะใช้ชื่อสถานีนั้นๆตลอด ยกตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างที่ 1 เมืองโกเบ (Kobe) จังหวัดเฮียวโงะ ภูมิภาคคันไซ มีสถานีหลักชื่อ Sannomiya มิใช่สถานี Kobe คือสถานีชื่อนี้มันก็มี แต่มันไม่ใช่ชุมทางหลักไงครับ! ถ้าท่านใดถามว่าแล้วทำไมสถานี Kobe ไม่ใช่ชุมทางหลักล่ะ-->อันนี้โทรไปถามสำนักงาน JR West เองนะครับ เดี๋ยวผมให้เบอร์โทรไปคุย ผมก็ไม่ทราบ!!

ตัวอย่างที่ 2 จะไปเที่ยวเมืองนาระ มือใหม่ก็จะคิดว่า ฉันต้องลงสถานีรถไฟหลักชื่อ Nara สิ! แต่ความเป็นจริงก็คือ "สถานีหลักมีสองสถานี" คือ มีชื่อสถานี JR Nara กับสถานี Kintetsu Nara เฮ้ย! มือใหม่ยิ่งงงใช่ไหมครับ! ตรงนี้ผมก็ขอบอกว่า กรณีนาระ คือ มีรถไฟมุ่งหน้าสู่เมืองนี้เหมืิอนกัน แต่ "รถไฟคนละบริษัทนั่นเอง" ดังนั้นผมถึงบอกไงครับว่าศึกษาให้ดี รถไฟญี่ปุ่นไม่ได้ผูกขาดโดย JR อยู่จ้าวเดียวแบบหลายๆประเทศ!

b2ap3_thumbnail_kintetsu.jpg

 

ตัวอย่างบริษัทรถไฟเอกชน Kintetsu มีพื้นที่ดำเนินกิจการในแถบคันไซและจูบุครับ

b2ap3_thumbnail_2000px-Keisei_Logo.svg.png

ตัวอย่างบริษัทรถไฟเอกชน Keisei มีพื้นที่ดำเนินการในแถบโตเกียว ชาวไทยจะรู้จักบริษัทนี้กันเยอะครับเพราะเป็นคู่แข่งรถไฟ JR เส้นทางสนามบินนาริตะ-โตเกียว

นอกจากนี้บางสถานีก็ไม่ได้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแบบเมืองหลักนะครับ อาจะต้องนั่งรถบัสเข้าดาวน์ทาวน์ต่ออะไรแบบนั้น เอาเป็นว่าเวลาดูเส้นทางท่องเที่ยวก็เปิดแผนที่ไปด้วยก็แล้วกัน หรือจะดูภาพด้านบนที่แบ่ง JR เป็นเขตต่างๆก็พอได้ครับ นอกจากนี้ก็ควรศึกษาชื่อสถานีรถไฟที่เราต้องใช้ด้วย นอกจากนั้นก็จะขอเข้าสู่ขั้นตอนดังนี้

1. กำหนดจำนวนวันเดินทางที่แน่นอน โดยปกตินับตั้งแต่เครื่องบินแลนดิ้งแตะพื้นที่ญี่ปุ่นเป็นวันแรกของการเดินทาง (กรณีเราบินไปถึงที่ญี่ปุ่นตอนดึกๆ เช่นห้าทุ่ม เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอาจจะอนุโลมสแตมป์วีซ่าให้เริ่มนับวันถัดไปครับ-->ไม่งั้นคุณจะได้สิทธิ์อยู่เพียง 14 วันกับ 1 ชั่วโมงไงครับ)

2. กำหนดจำนวนวันเดินทางแล้วก็ไปดำเนินการซื้อตั๋วเครื่องบินให้เรียบร้อย ใครจะซื้อประกันภัยเวลาเดินทาง ซื้อประกันชีวิต กล้องถ่ายรูป ทำพาสปอร์ต หรืออื่นๆก็ดำเนินการซะ อย่าชะล่าใจ 

3. เมื่อได้เมืองที่ต้องการแล้ว "กรุณาศึกษาชื่อสถานีรถไฟตลอดจนแผนที่เส้นทางรถไฟของญี่ปุ่นให้ถี่ถ้วน" ไม่ต้องลงทุนซื้อหนังสือก็ได้ แค่เปิด Google Map แล้วเลื่อนดูเมืองที่จะไปก็พอ จะได้รู้ว่าเมืองนั้นเมืองนี้อยู่ห่างกันมากจากเมืองที่เราพัก/ไปเที่ยวแค่ไหน 

4. ข้อนี้สำคัญมาก มือใหม่ทุกคนอาจจะยังงงกับการอ่านข้อมูล แต่ถ้าไปเองแบบคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆที่เป็นมือใหม่ทุกคนก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อย นั่นคือ การเข้าเว็บ Hyperdia.com ครับ สรุปง่ายๆว่าเว็บนี้เหมือนตารางบอกเวลารถไฟในญี่ปุ่นแบบ realtime ให้คุณได้ทราบกัน เมื่อไหร่ที่คุณมี internet ก็กดเข้าไปค้นหาข้อมูลครับ เว็บนี้ถือว่าอ่านง่ายสุดและรู้จักกันทั่วไปครับ ถึงจะเป็นภาษาอังกฤษแต่ก็ไม่ยากเกินไป แค่ศัพท์พื้นฐานเท่านั้นเอง การใช้งานก็ง่ายๆ ใส่ชื่อสถานีต้นทาง แล้วก็สถานีปลายทาง แล้วก็กรอกวัน เวลาที่ต้องการ+ประเภทรถไฟ ระบบจะคำนวณมาให้เสร็จสรรพ-->ผมถึงย้ำนักย้ำหนาก่อนมาถึงบรรทัดนี้ไงครับว่า กรุณาศึกษาเมืองที่ต้องการไป แล้วก็ชื่อสถานีรถไฟด้วย! เพราะถ้าไม่รู้สถานี แล้วกรอกไปมั่วๆ ผมไม่รับรู้นะ เพราะบางเมืองชื่อเดียวกันแต่อยู่คนละจังหวัด หรือบางเมืองชื่อสถานีเดียวกันแต่บริหารงานแยกกันสามบริษัท!!

b2ap3_thumbnail_hyperdia3.jpg

ตัวอย่างหน้าตาเว็บ Hyperdia มันจะบอกเวลารถไฟออก เวลารถไฟถึงปลายทาง สถานีที่เราขึ้นและสถานีที่เราลงตลอดจนบอกค่ารถให้เสร็จสรรพ สะดวกที่สุดในสามโลกแล้วครับ!

5. เมื่ออ่านเวลาการเดินรถไฟจาก Hyperdia จนเข้าใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว "จดเงินค่าขึ้นรถไฟไว้ด้วย" ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ๆส่วนมากไม่ต้องซื้อบัตรรถไฟ พวก Pass โน่นนี่เลยครับ แต่ถ้าออกไปไกลๆหรืออยากนั่งรถไฟด่วนหรือชินคันเซนก็คงต้องพึ่งพา Pass ต่างๆ อีก ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่สามารถบอกได้อีกแหละว่า "การซื้อ Pass ประเภทต่างๆ มีความจำเป็นแค่ไหน" มันบอกยากครับ เพราะแต่ละคนความชอบไม่เหมือนกันเลย" บางคนชอบเที่ยวแบบเห็นเยอะๆ+ข้ามภูมิภาค ก็อาจใช้ชินคันเซนช่วยเซฟเวลา เพราะมันวิ่งเร็วสุด (ค่ารถก็แพงสุดด้วย!) บางคนชอบชีวิตเนิบๆ ตรูจะนั่งดูหนุ่มสาว office เลิกงานหรือนักเรียนสาวนั่งรถไฟกลับบ้าน หรือดูคุณป้าคุณลุงกลับจากการไปจ่ายตลาดมา อันนี้ก็ต้องขึ้นรถไฟธรรมดา ประเภทหวานเย็นแบบบ้านเราครับ ได้เห็นแน่นอน (ถ้าเจอนักเรียนสาวขึ้นชินคันเซนนี่บอกเลยว่าเจอยาก) เรื่องนี้นานาจิตตังจริงๆครับ

การซื้อ Pass รถไฟต่างๆ

บอกก่อนว่ารายละเอียดแต่ละ Pass เยอะมากกกกก ผมคงไมสามารถอธิบายทีละ Pass จนครบได้นะครับ ไม่งั้นต้องเขียนบล็อกกันแรมเดือนเลยล่ะ แต่ผมจะมาอธิบายว่า เมื่อเล็ง Pass ที่ต้องการไว้ในใจได้แล้ว ผมมีข้อสังเกตให้ทราบดังนี้

1. กรุณาดูรายละเอียดด้วยว่า Pass นั้นซื้อได้ที่ไหนบ้าง -->เนื่องจากบาง Pass ไม่มีขายในประเทศญี่ปุ่น ต้องซื้อจาก agent ในประเทศของเราเองก่อน 

b2ap3_thumbnail_photo74.jpg

ตัวอย่าง JR PASS ที่ชาวไทยนิยมใช้กันมาก 

2. บาง Pass สามารถซื้อได้จาก agent ในไทยหรือจองออนไลน์ จะถูกกว่าไปซื้อในประเทศญี่ปุ่น 

3. Pass บางตัว จะซื้อได้เฉพาะภูมิภาคนั้นๆ หรือสถานีใหญ่ๆเท่านั้น อันนี้ต้องดูรายละเอียดกันเอง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นสถานีหลักๆที่คนไทยรู้จักดีครับ มีกรณียกตัวอย่างเช่น สมมุติเครื่องลงแถวคันไซ ยังไงๆเราก็ได้ใช้บริการสถานีโอซาก้าหรือชินโอซาก้าแน่นอน แต่ปรากฏว่าเราอยากจะซื้อ Enoshima-Kamakura Pass สำหรับเผื่อไว้เที่ยวเมืองคามาคุระ (ซึ่งอยู่ภูมิภาคคันโต) อันนี้ก็ไม่สามารถซื้อที่สถานีโอซาก้าได้ครับ คุณจะต้องนั่งรถไฟไปลงสถานีคามาคุระหรือ Ofuna หรือสถานีที่ร่วมการขาย Pass นัั้นก่อนถึงจะซื้อได้ เป็นต้น 

4. บาง Pass ก็ราคาปกติ จะซื้อที่ไทยหรือที่ญี่ปุ่นก็ได้ ราคาเท่ากัน (เวลาซื้อในไทย ราคาขายจะอิงจากเงินเยนอยู่ดี ถ้าซื้อในไทยก็ไปดูเรทแลกเงินเองนะครับ)

5. ในกรณีที่ซื้อจาก agent ในไทยหรือจองออนไลน์ คุณผู้อ่านจะได้รับ voucher มา จงรักษา voucher นั้นไว้ให้ดี เพราะต้องเอาไปแลกเป็น "Pass ตัวจริง" ที่สถานีรถไฟหรือสนามบิน

6. เมื่อได้ Pass ตัวจริงมาแล้วก็ใช้ซะ แต่"อย่าทำหาย/อย่าทำขาด" เพราะไม่มีการคืนเงินทุกกรณี และพยายามอย่าให้เปียกน้ำ เพราะแถบสติกเกอร์ที่ลอกไว้อาจหลุด Pass นั้นก็อาจถูกระงับการใช้ได้ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่)

b2ap3_thumbnail_16923396632_3c896dbcfe_c.jpg

เห็นบัตรเหมือนกระดาษสีเขียวฝั่งซ้ายใช่ไหมครับ นั่นแหละครับ สำคัญมากและห้ามดึงซีลออกด้วย 

--->อันนี้ผมเจอมาแล้วกับตัว คือ ไปฮิโรชิม่าช่วงเมษา 2558 เจอฝนตกทั้งวัน ขากลับจะหยิบบัตรมาโชว์เจ้าหน้าที่เพื่อกลับโอซาก้า โอ้ว...Pass เปียกไปแถบนึง สติกเกอร์เริ่มลอก แต่เอามือบีบๆให้กาวมันแน่นๆ ก็ถูไถไปได้ครับ คืนนั้นพยายามผึ่งให้แห้งเลย ก็ใช้ได้ปกตินะครับ แค่หวาดเสียวเฉยๆ อิอิ

สถานีรถไฟจะเดินง่ายเมื่อรู้ทิศ+รู้ทาง(ออก)

จะบอกว่านักท่องเที่ยวไทยหลายคนไม่คุ้นเคยกับสถานีรถไฟของญี่ปุ่นเลย และจะมีปัญหามากเรื่อง "หาทางออกที่ต้องการไม่เจอ", "หลงทิศ & หลงทาง" ฯลฯ  ทีนี้ผมจะมาบอกว่า สถานีรถไฟหลักตามเมืองใหญ่ๆ มันเหมือนห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมๆเลยนะครับ บางสถานีมีชั้นใต้ดินหลายชั้นมากแถมมีมากกว่ายี่สิบชานชาลา อย่าไปคิดถึงสถานีรถไฟสยามหรือหัวลำโพงเลยครับ มันใหญ่กว่านั้นมาก! จะบอกให้เห็นภาพง่ายๆเลยว่า แค่สถานี Shinjuku แห่งเดียวก็พื้นที่เท่ากับ "ทั้งสยามสแควร์+พาราก้อน" แล้วครับ ถ้ามาแบบมึนๆแล้วไม่หลงก็ให้รู้ไป! ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็ศึกษาแผนผังของสถานีนั้นๆไว้ก็ดีครับ หรือจะเข้าเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังแล้วดูรูปเอาก็ช่วยให้เราเกิดไอเดียได้

b2ap3_thumbnail_IMG_5037.JPG

ตัวอย่างภาพจากชานชาลาสถานีรถไฟชินโอซาก้า ผมถ่ายไว้เมื่อตอนเมษายน 2015 ครับ

--อีกอย่างที่ผมอยากแนะนำก็คือ ถ้าเราอยากไปห้างไหนหรือแหล่งท่องเที่ยวไหน พยายามจดหมายเลขทางออกของสถานีรถไฟไว้ด้วยครับ ถ้าไปต่างจังหวัด ปัญหานี้ไม่ค่อยเกิดเพราะทางออกมีไม่กี่ประตูและป้ายบอกทางจะชัดเจน แต่เมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้า รับรองว่า ทางออกมีเกิน 10 ประตูแน่นอน!! ดังนั้นการค้นหาข้อมูลประตูทางออกจะช่วยท่านทั้งหลายเซฟเวลาได้มาก...

--มาถึงตรงนี้หลายท่านบอกว่า "ถ้าขึ้นมาผิดทิศทางก็เดินอ้อมทิศหรือเลียบทางบนถนนไปสิ" ก็จะบอกว่า "ทำได้ครับ แต่ยินดียอมเสียเวลาเดินบนถนนสักครึ่งชั่วโมงไหมกับเพราะแค่การขึ้นผิดทิศทาง"-->เมืองอื่นผมไม่แน่ใจเพราะยังไม่เคยหลง แต่ถ้าย่านชินจูกุ บอกเลยว่าเดินจากประตูฝั่งตะวันตกไปตะวันออกบนถนนถ้าเดินมั่วๆนี่ล่อไปเกือบครึ่งชั่วโมงเหมือนกันนะครับ ถนนตรงนั้นไม่ได้เป็นวงกลมหรือวงรีนะ แถมถนนแถวนั้นมีตรอกซอกซอยมากมาย เดินผิดเดินถูกก็นั่นแหละ แล้วเกิดไปเจอถนนกำลังปิดซ่อมแซมก็ต้องหาเส้นทางอื่นอ้อมไป...ผมหมดไปครึ่งชั่วโมงกับการเดินงมเที่ยวชินจูกุครั้งแรกครับ ผมจึงแนะนำให้ศึกษาหมายเลขทางออกให้ถี่ถ้วนเพื่อประหยัดเวลานั่นเองครับและหลังจากนั้นผมก็เลือกลงไปเดินทางเชื่อมใต้ดินแทนครับ ถึงไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ป้ายบอกทางเหมือนจะเยอะกว่าแฮะ! 

สถานีรถไฟก็เหมือนอาณาจักรแห่งหนึ่ง

ข้อดีของสถานีรถไฟใหญ่ๆ (ในที่นี้หมายถึงรถไฟ JR) ในญี่ปุ่นที่ผมขอยกใจให้ไปเลยก็คือ เหมือน one stop service จริงๆครับ ใครเคยไปเที่ยวจะเข้าใจ คือสถานีรถไฟใหญ่ๆจะมีทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านขายข้าวกล่องรถไฟ (ร้าน fast food ชื่อดังนี่มีแน่นอน) ร้านขายของฝากประจำถิ่น บูธจำหน่ายตั๋วเดินทาง จุดนัดพบ จุดต่อรถบัส จุดเช่ารถขับเอง และที่สำคัญคือ โรงแรม+ห้างสรรพสินค้า นั่นเองครับ ถ้าใครไปพักโรงแรมที่มีที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟก็ขอแสดงความดีใจด้วยครับ คุณจะคุมเวลาการเที่ยวได้อีกเยอะและเหนื่อยน้อยด้วย เพราะลงรถไฟเสร็จก็กดลิฟต์ขึ้นห้องไปได้เลยครับ สะดวกในสามโลก ข้าวเช้า ข้าวดึกก็ไม่ต้องถ่อไปไกล ร้านในสถานีรถไฟนั่นแหละมีให้เลือกเพียบและเปิดจนดึกดื่น ^__^ แม้สนนราคาจะแพงกว่าโรงแรมที่อยู่ไกลหน่อย แต่ถ้าคุณผู้อ่านเจอดีลลดราคาหรือจ่ายไหว ผมก็แนะนำครับ ตอนไปโอซาก้านี่ผมปลื้มใจมากๆ! เพราะได้นอนที่โรงแรมเหนือสถานีชินโอซาก้า ผลคือ ไม่เคยตกรถไฟเลย กะเวลาได้ตลอดและไม่ต้องคิดว่าจะเดินไปไหนไกลๆตอนกลางคืนด้วย หิวก็ลงมาแถวสถานีนี่เองครับ!

b2ap3_thumbnail_Visiting-Kyoto-Shin-Yokohama-Sta.jpg

(ภาพแทน) คิดอะไรไม่ออก ลงมาเดินที่สถานีรถไฟเลยครับ มีของกินจนสถานีรถไฟปิดแน่นอน! 

เตรียมตัวเตรียมใจขึ้นรถไฟกันเถอะ

เอาล่ะ เกริ่นมาซะเนิ่นนาน! เรามาก้าวเท้าเข้าสู่สถานีรถไฟกันเถอะครับ! ก่อนอื่นต้องบอกว่า สถานีรถไฟที่นี่ก็เหมือนหลายๆประเทศในโลกครับ เข้ามาเดินเล่นได้ (รอบนอก) แต่ถ้าพ้นที่สอดตั๋วก็คือด้านในที่ต้องจ่ายเงินแล้วนั่นเอง แต่กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ใช้ Pass ชนิดต่างๆเดินเข้าออกในส่วนที่สอดตั๋วก็ได้สบายๆ หลายร้านที่เป็นของอร่อยบางทีก็อยู่ในโซนนี้ครับ อันนี้ผมก็บอกไว้ให้ทราบเฉยๆนะ เผื่อใครอยากเดินเล่น

--เมื่อเข้ามาแล้ว ถ้ามีจุดหมายอยู่ในมือว่าจะไปเมืองไหน หรือสถานีไหน ก็ทำตามนี้ได้เลยครับ

1. มองหาหมายเลขชานชาลาที่คุณจะไปขึ้นรถไฟ ไม่ต้องห่วงครับ สถานีใหญ่ๆเดี่ยวนี้มีภาษาอังกฤษกำกับหมดแล้ว ไม่หลงแน่นอน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆอย่างโตเกียว โอซาก้า เกียวโต ฯลฯ ทั้งนี้ กรุณามาก่อนเวลารถไฟออกเยอะๆ ถ้าไม่มั่นใจเรื่องหมายเลขชานชาลา จะได้ไม่ลนลาน

b2ap3_thumbnail_IMG_6050.JPG

ตัวอย่างป้ายบอกหมายเลขชานชาลาและเมืองที่ต้องการไป คนเขียนถ่ายจากสถานีชินโอซาก้า  

2. เมื่อทราบชานชาลาที่ต้องการแล้วก็เดินไปตามทาง เมื่อลงมาแล้วก็ตรวจสอบบริเวณชานชาลาจะเห็นป้ายสัญลักษณ์ต่างๆบนพื้น มือใหม่อาจจะไม่ค่อยสังเกตหรืองงกับสัญลักษณ์เหล่านี้ครับ

b2ap3_thumbnail_IMG_4479.JPG

สังเกตพื้นที่บริเวณที่คุณผู้อ่านกำลังเหยีียบอยู่ครับ จะมีป้ายบอก สัญลักษณ์จะเยอะมาก ให้ยืนบนป้ายนี้แหละ ถ้ามาคนแรกเดี๋ยวคนอื่นก็จะมาต่อคิวไปเรื่อยๆครับ และห้ามแซงคิวคนอื่นเด็ดขาดครับ! ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นพวกไร้มารยาท/วัฒนธรรมทันที!

3. ดูเวลาที่ตัวเองจะขึ้นรถไฟด้วยว่าขบวนที่จะขึ้นมันออกกี่โมง

b2ap3_thumbnail_IMG_4538.JPG

จากข้อ 3 เราจะเห็นสัญลักษณ์วงกลมสามเหลี่ยมพร้อมเลขบนจอ ก็ไปยืนตามป้ายบนพื้นที่มีสัญลักษณ์แบบเดียวกัน ตัวเลข 1-8 คือ หมายเลขตู้รถไฟครับ นั่นก็คือ รถไฟขบวนนี้มี 8 ตู้นั่นเอง ส่วน local หรือ Rapid จะเป็นประเภทรถไฟครับ Local ก็หวานเย็นแบบบ้านเรา, Rapid ก็จะเร็วกว่า มีภาษาอังกฤษกำกับครับ ไม่ต้องกลัว ขอให้ตั้งสติอ่านให้ดีๆละกัน!

*** ย้ำกันตรงนี้สำหรับมือใหม่! เวลาที่เราค้นหาข้อมูลจากเว็บ Hyperdia เวลาที่ขึ้นมาในหน้าจอคอมพิวเตอร์และบนจอที่สถานรีรถไฟ คือ "เวลารถไฟออกจากชานชาลา ไม่ใช่เวลารถไฟถึง" ดังนั้นผมแนะนำให้มาก่อนอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันเหตุ "รถไฟปิดประตูต่อหน้า" และ "กระโดดขึ้นรถไฟผิดขบวน" เรื่องนี้สำคัญมากเพราะคนเขียนเจอมาแล้วกับตัว คือ ตอนอยู่สถานีโยโกฮาม่า จะกลับโตเกียว ปรากฏว่าด้วยความลนลาน ไม่ได้เช็คขบวนรถไฟให้ดี เห็นเวลารถไฟจะออกมันใกล้กับที่เซฟใน Hyperdia ไว้เลยโดดขึ้นไปเลย...ผลคือ Otaru ไปผิดทางครับ แทนที่จะได้มุ่งหน้ากลับชินจูกุตรงๆ ผมก็ต้องโดดลงสถานี Totsuka แทน โชคดีที่พอจะคุยกับเจ้าหน้าที่ JR ได้ก็เลยกลับถูกขบวนซะทีครับ ด้วยเหตุที่วิ่งมาโดยไม่ได้ดูชานชาลากับขบวนรถไฟก็เจอยังงี้ล่ะครับ เข็ดเลย ตอนนั้นหนาวด้วย อุณหภูมิเลขหลักเดียว...

4. ดูเวลาเสร็จต้องมานั่งดูขบวนที่ตัวเองจะขึ้นด้วยว่าถูกขบวนหรือเปล่า สถานีโตเกียวหรือชินจูกุนี่จะงงมากครับถ้าไม่เคยขึ้น รถไฟแต่ละขบวนจะมากันถี่มาก หากเรามาเร็วเกินแล้วเผลอขึ้นก็อาจไม่ใช่ขบวนที่เราต้องการไปก็เป็นได้ หรือมาแบบรีบๆก็อาจพลาดได้เหมือนที่ผมพลาดเช่นกัน

-วิธีดูรถไฟเบื้องต้นก็คือ ข้างๆรถไฟจะมีป้ายไฟตัววิ่งบอกว่ารถไฟขบวนนี้เป็นรถไฟประเภทไหน (หวานเย็น เร็ว ด่วน ฯลฯ) พร้อมบอกปลายทางที่จะไปพร้อมหมายเลขโบกี้ด้วยครับ ดังนั้นที่ผมแนะนำให้เผื่อเวลามาที่ชานชาลาสัก 10 นาทีก็เพราะเหตุนี้ล่ะ จะได้ดูข้างขบวนได้ทัน โอกาสหลงจะได้น้อยลงครับ อีกวิธีก็คือ เดินไปถามเจ้าหน้าที่เขาเลยว่าขบวนนี้ไปสถานี...ไหม

b2ap3_thumbnail_DSC05621.JPG

สังเกตข้างๆรถไฟที่จะขึ้นครับ มันจะบอกประเภทของรถ ในที่นี้คือ Express (เร็ว) สถานีปลายทางคือ Seibu-Shinjuku ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ มีภาษาอังกฤษขึ้นหมดแล้วจ้าาา รูปนี้ถ่ายตอนไป Kawagoe ครับ

-->ภาษาญี่ปุ่นง่ายๆที่อยากแนะนำคือ "โคโนะ เด็นฉะ วะ (ชื่อสถานีที่จะไป) เอคิ นิ อิคิมัส ก๊ะ" แปลไทยก็คือ "รถไฟขบวนนี้ไปสถานี xxx ได้หรือเปล่าครับ/ค่ะ" ประโยคนี้หากินได้ทั้งประเทศครับ ลองมาแล้วทั้งคันไซและคันโต แต่ถ้าจำไม่ได้จริงๆ เดินไปถามเจ้าหน้าที่เลยครับ "ชื่อสถานี+Yes/ No" โดยปกติเจ้าหน้าที่จะรู้เลยครับว่า คนถามนี่ไกจิน(คนต่างชาติ) แน่นอน ก็จะบอกเป็นภาษาอังกฤษให้ ถ้าโชคดีเขาอาจจะบอกชานชาลาที่ถุูกต้องให้ทราบด้วยครับ

5. เมื่อขึ้นรถไฟแล้ว กรุณาเดินเข้าไปด้านในเลยครับ ทำแบบรถไฟฟ้าบ้านเรานั่นแหละ ชิดในเลยพี่! แต่ถ้าช่วง Rush Hour แบบที่เราเห็นในทีวีมันจะแน่นมาก แน่นจนเราไหลไปตามแรงคนที่มาด้านหลังได้เลย ระวังโดนลวนลามนะครับ มันมีจริง! ส่วนการขึ้นนอกเวลาเร่งด่วนก็หาที่นั่งได้ตามสบาย แต่ให้สังเกตนิดนึงว่ามันเป็นที่นั่งสำหรับคนท้อง คนเจ็บ คนแก่หรือเปล่า (แต่ปกติที่ผมเห็นคือ ซาลารี่แมนนั่งแล้วเห็นผู้หญิงจะไม่ลุกให้นะ หรือวัยรุ่นญี่ปุ่นบางคนก็เฉยๆ ไม่ได้ลุกเวลามีคนสูงอายุขึ้นรถไฟนะครับ)

b2ap3_thumbnail_priority-seat.jpg

นี่คือหน้าตาของที่นั่ง Priority Seat ที่เรามักจะเจอเป็นประจำครับ แต่ถ้าขบวนนั้นว่างจริงๆ คนอย่างเราๆก็นั่งได้ เพียงแต่ถ้ามีคนประเภทตามสติ้กเกอร์ขึ้นรถไฟมา เราควรลุกให้พวกเขาได้สิทธิ์นั่งก่อนครับ  

-->ถ้าเป็นรถไฟแบบ Limited Express หรือ Shinkansen หรือรถไฟพิเศษที่ระบุที่นั่งก็กรุณานั่งให้ตรงหมายเลข+ตู้ที่จัดไว้ให้ด้วยครับ และถ้าจองไว้ก็กรุณาขึ้นตู้ที่เขียนว่า Reserved Seat ด้วย เพราะถ้าเป็น Non-reserved seat จะเป็นแบบใครมาก่อนนั่งก่อนครับ (ถ้าเราไม่ได้ขึ้นต้นสาย บางทีอาจได้ยืนก็มีนะครับ ผมก็เคยต้องยืนบนชินคันเซนเหมือนกัน)

b2ap3_thumbnail_22613_782109925230101_5221090895531616497_n.jpg

ตัวอย่างภายในที่นั่ง Shinkansen (ขบวน Kodama ครับ) ที่นั่งส่วนใหญ่จะเป็น 3-2 คือ ฝั่งนึงมีสามที่นั่ง อีกฝั่งนึงมีสองที่นั่ง

-->กรณีที่จองที่นั่งรถไฟไว้แล้วไปไม่ทัน คุณควรเดินไปแจ้งที่เคาน์เตอร์สถานีรถไฟว่าไปไม่ทัน เจ้าหน้าที่จะได้ปล่อย seat นั้นให้คนอื่นจองต่อครับ และถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งด้วย

6. รักษาความสะอาด งดส่งเสียงดัง ปรับโทรศัพท์เป็นระบบสั่น

-->ใครเล่นไลน์ก็กรุณาปิดเสียงด้วยครับ ขาดเสียงติ๊งๆๆ ไม่นาน ร่างกายน่าจะหายใจได้ตามปกตินะครับ ยังไม่มีรายงานว่าใครปิดเสียงไลน์เป็นเวลานานแล้วเสียชีวิต พอดีผมเจอมากับตัวตอนไปฮาโกเน่...เอ ทำไมกลุ่มคนที่นั่งข้างๆเราถึงเปิดเสียงไลน์ ติ๊งๆตลอดแถมคุยเสียงดัง ลุงญี่ปุ่นที่นั่งข้างๆผมหลับอยู่ต้องสะดุ้งตื่นเลย ตอนแรกผมก็เซ็งๆ เหลือบไปเห็นหนังสือที่คนกลุ่มนั้น...เฮ้ย นี่มันหนังสือท่องเที่ยวเล่มเดียวกันกับที่เราใช้นี่นา...อายครับ อายมากกกกกกก นาทีนั้นผมปกปิดสัญชาติครับว่าผมมาจากแดนขวานทอง...ไร้มารยาทมากครับคนกลุ่มนั้น เปิดเสียงไลน์โชว์ว่าซื้อเนตแรงมาจากบ้านเกิด...ภูมิใจเนอะ

7. การทานอาหารบนรถไฟ

--อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆและการสังเกตคนญี่ปุ่นที่ขึ้นรถไฟด้วยกัน ใครอาศัยอยุ่ที่นั่นมาแชร์กันได้ ก็คือ ผมสังเกตเห็นว่าถ้าเป็นรถขบวน local หรือรถธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือน เด็กๆ หรือชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตปกติขึ้นกันจะ "ไม่มีการทานข้าว/ขนมบนรถไฟ" ไม่เห็นมานั่งทานจริงๆนะครับ แค่หยิบลูกอมมาทานยังไม่เห็นเลยอ่ะ ดังนั้นถ้าเราหิวก็อดทนไว้ก่อนนะครับ ไม่งั้นจะกลายเป็นแกะดำนะ!

--ขณะที่รถไฟแบบ Limited Express หรือ Shinkansen จะสบายมากๆ (และค่าโดยสารก็แพงกว่ารถธรรมดาด้วย ลองไม่ใช้ Pass สำหรับชาวต่างชาติสิครับ แล้วจะรู้!) คือที่นั่งจะมีเหมือนๆเครื่องบิน คือ มีถาดพับได้อยู่ตรงหน้า (บางทีก็อยู่ข้างที่วางแขน) เอาเป็นว่ารถไฟประเภทนี้ทานอาหารได้แน่นอนครับ น้ำก็ดื่มได้สบาย แถมบางขบวนมีตู้กดน้ำในโบกี้ให้ด้วยซ้ำ นอกจากนี้รถไฟลหายขบวนยังมีพนักงานหนุ่ม/สาวเข็นรถเข็นอาหาร+ของทีระลึกขายให้กับผู้โดยสารถึงที่เลยด้วย! สะดวกสบายสุดๆครับ

b2ap3_thumbnail_IMG_4779.JPG

หน้าที่นั่งของท่านจะมีถาดพับได้แบบบนเครื่องบินอยู่ตรงหน้าครับ วางของหรือทานข้าวได้ แต่รถไฟธรรมดาแบบบ้านๆจะไม่มีให้ครับ ภาพนี้ otaru ถ่ายจาก Shinkansen ขบวน Nozomi ครับ

--เรื่องขยะ...อันนี้จากที่ผมเองนั่ง Shinkansen ในแถบคันไซหลายเที่ยว (ใช้ Nozomi กับ Kodama) ก็อยากจะบอกว่าเมื่อทานอาหารเสร็จแล้วควรมัดใส่ถุงรวมแล้วไปทิ้งที่ถังขยะครับ ถังขยะจะไม่ใช่ถังแต่เป็นซอกสำหรับหย่อนขยะ (สไตล์ KFC ประมาณนั้น) ก็หย่อนลงไปครับ หรือจะหิ้วออกมานอกรถไฟแล้วทิ้งในสถานีแทนก็ได้ (ตอนไปโตเกียวผมทำเช่นนั้น ตอนขึ้นขบวน Yamabiko)..จริงๆแล้วตอนผมลงจากขบวนรถไฟ shinkansen พอสุดสาย ผมก็เห็นมีทีมพนักงานทำความสะอาดรอขึ้นรถไฟไปทำความสะอาดอยู่ เอาเป็นว่ากรุณารักษาความสะอาดก็แล้วกันนะครับ อย่าปล่อยให้เละเทะดีที่สุด!

8. การหลับบนรถไฟ! 

--ข้อนี้อาจจะเบสิค แต่เชื่อว่าหลายคนกังวลรวมทั้งคนเขียนเองด้วย นั่นคือ เราง่วงมากแต่กลัวหลับยาวจนเลยสถานีที่จะลง เราจะป้องกันอย่างไร ผมค้นพบว่าวิธีที่ประหยัดมากก็คือ

8.1 ถ้ามากับเพื่อน/แฟน/สมาชิกคนอื่น บอกเขาให้ปลุกด้วย! แต่วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าในทีมต้องมีคนไม่หลับจริงๆอย่างน้อยคนหนึ่ง ถ้าหลับหมดได้นั่งเลยทั้งคณะแน่! หุหุ

8.2 พยายามไม่หลับ ด้วยการเดิน หรือหาอะไรทำ ข้อนี้มันก็ยากนะครับ คนมันง่วงมันก็ง่วงจริงๆ

8.3 ข้อนี้ผมใช้เอง แต่เทคนิคนี้แนะนำให้ใช้เฉพาะ Limited Express หรือ shinkansen ดีกว่าเพราะรถไฟไม่ได้จอดถี่ๆ โอกาสหลับยาวสูงกว่า ก็คือ ถ้าอยากจะหลับ ให้ตั้งนาฬิกาปลุกในมือถือซะ (อย่าลืมปรับเวลาเป็นที่ญี่ปุ่นด้วย ไม่ใช่เวลาไทย! พลาดมาหลายรายแล้ว) ปกติเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะใช้เว็บ Hyperdia เป็นหลักในการหารถไฟ+คำนวณเวลาและเงินค่ารถไฟ ก็ให้จำเวลารถไฟถึงชานชาลาปลายทางซะ แล้วตั้งนาฬิกาปลุกในมือถือให้ปลุกก่อนสัก 10-15 นาทีจะดีมากครับ! ผมลองทำมาแล้วเพราะต้องขึ่้นรถไฟรอบหกโมงกว่า มันง่วงมากแต่กลัวเลยป้าย ก็เลยตั้งปลุกไว้ ได้ผลนะครับ เพราะเวลา 10-15 นาทีนี้งัวเงียๆมาก แต่ก็ได้ที่พอดีแล้วเตรียมหยิบกระเป๋าลงป้ายหน้าได้เลย!

b2ap3_thumbnail_DSC06772.JPG

หน้าตาของรถไฟ Narita Express ที่จะนำท่านเข้า-ออกสนามบินนาริตะอย่างสะดวก และหลายคนก็หลับสบายบนรถไฟขบวนนี้แหละครับ (จะสื่อว่ามันน่านอนมาก ถ้าจะนอนก็ตั้งนาฬากาปลุกด้วยนะ!!)

9. ถึงปลายทาง "อย่าลืมหยิบของให้ครบ"

---ข้อนี้คงไม่ต้องสาธยายอะไรมาก เอาเป็นว่าถ้าหากลืมจริงๆ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รถไฟทันทีครับ โอกาสได้คืนก็พอมีนะ เห็นหลายๆคนเขียนในเว็บบอร์ดหรือหนังสือท่องเที่ยวว่าลืมของในรถไฟก็ได้คืนเพราะมีคนเก็บไว้ให้ ก็จะบอกว่า อย่าประมาทนะครับ ได้คืนถือว่าโชคดี แต่จะบอกว่าบางครั้งของหายเนี่ยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขโมยหรอก ผู้โดยสารคนอื่นนั่นแหละที่หยิบไปก็มีถมถืด ดังนั้นอย่าลืมครับ ดีที่สุดเนอะ! 

คำเตือนในการใช้รถไฟ

1. รถไฟไม่ใช่ของคุณคนเดียว จะทำอะไรก็ขอให้ "นึกถึงคนอื่นด้วย" 

2. มีมารยาทในการใช้รถไฟ ไม่ส่งเสียงดัง งดเต้นแรงเต้นกาบนรถไฟ โทรศัพท์ควรเปิดสั่นหรือให้เงียบไปเลย แต่หากจำเป็นต้องโทร ให้เดินไปตรงช่วงรอยต่อระหว่างโบกี้แทน

b2ap3_thumbnail_Manner-mode.jpg

นักท่องเที่ยวไทยเป็นผู้เจริญแล้ว ควรปฏิบัติตามกฎบนรถไฟและปรับเครื่องมือสื่อสารให้เป็นโหมดเงียบด้วยครับ (รวมไปถึงการงดเล่นไลน์, เกม และอื่นๆที่ส่งเสียงดังทั้งหลายด้วยครับ) 

3. รักษาความสะอาดบนรถไฟ+ห้องน้ำบนรถไฟด้วย ขยะอย่าทิ้่งเรี่ยราด

4. ในกรณีที่จองที่นั่งแล้วพบว่ามีคนอื่นมานั่งแทน ถ้าคุยรู้เรื่องก็ลองบอกเขาดูว่าคุณนั่งผิดที่นะ ถ้าเขาไม่ยอมก็เดินไปเรียกนายตรวจครับ อย่าคุยเอง เดี๋ยวยาว (เจอมาแล้วกับเพื่อนๆตอนกลับจาก Utsunomiya คุยกับหนุ่มญี่ปุ่นไม่รู้เรื่อง ต้องเรียกนายตรวจเคลียร์ ปรากฏว่า ผมฝ่ายถูกครับ เขานั่งผิดที่เพราะผมจองที่นั่งเบอร์นั้นล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว)

5. หากพบเห็นวัตถุต้องสงสัย รีบบอกนายตรวจครับ พูดไม่รู้เรื่องแต่ใช้ภาษาใบ้หรือเรียกเขามาดูก็ได้ และเช่นเดียวกัน หากลืมของก็รีบติดต่อนายตรวจหรือเจ้าหน้าที่สถานีีรถไฟครับ ถ้าสถานีใหญ่ๆมีเจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษได้แน่นอน

ฝากไว้อีกนิด

--สำหรับข้อมูลที่ผมนำเสนอในบล็อกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรถไฟที่เราจะได้ใช้กันบ่อยๆนะครับ จริงๆแล้วยังมีรถไฟอีกหลายประเภทมากๆที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่เห็นว่าโอกาสที่นักท่องเที่ยวไทยจะได้ใช้นั้นยังมีไม่มากจึงไม่ได้นำมาเสนอครับ ถ้าถามว่าประเภทไหนก็ง่ายๆเลยครับ พวก Night Train ไงล่ะ คือรถไฟข้ามภูมิภาคแบบยาวๆ และต้องนอนในรถไฟ หรือจะตื่นมาแล้วก็นั่งชมวิวจากรถไฟไปเรื่อยๆ แบบไม่รีบครับ (เพราะถ้ารีบเขาไปนั่ง shinkansen กัน) อย่างไรก็ตาม เห็นวิ่งแบบเรื่อยเปื่อยอ่ะ รถไฟประเภทนี้แพงมาก! แต่การตกแต่งก็ประหนึ่งโรงแรมเคลื่อนที่กันเลยครับ ห้องนอนก็หรูเหมือนโรงแรมห้าดาวจริงๆ

b2ap3_thumbnail_JR-kyusyu-seven-stars-03.jpg

มั่นใจได้เลยว่าโรงแรมหรูบางแห่งยังต้องอาย นี่บนรถไฟนะครับ หรูมากๆ! ขบวนนี้เป็นของ JR Kyushu Seven Stars ครับ 

b2ap3_thumbnail_dx_sweet_new_2.jpg

ตู้นี้ "ราคาต่อคน" อยู่ที่ 770,000 YEN (เจ็ดแสนเจ็ดหมื่นเยน) !!!! 

บอกเลยว่า ถ้าอยากนั่งจริงๆ มีเงินอย่างเดียวไม่พอ บางครั้งต้องมีโชคด้วย! เพราะรถไฟประเภทนี้บางคันจะเอามาวิ่งตามเทศกาลพิเศษหรือฤดูกาลเท่านั้นครับ เวลาโฆษณาทีคนญี่ปุ่นก็จ้องจองที่เหมือนกัน ไม่ได้มีแต่พวกเรา ดังนั้นหากใครได้นั่งรถไฟประเภทนี้ก็ถือว่าโชคดีมากๆเลยครับ! เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะดีมากๆด้วย ^__^

-------------------------------------------------------------------------

--อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงตาลายกันเป็นแถบๆกับข้อมูลและตัวหนังสือเยอะแยะไปหมด ก็ค่อยๆอ่านนะครับ หรือจะอ่านจนจบในครั้งเดียวก็ดี แต่คนเขียนไม่มีโล่ห์แจกนะครับ 555 เอาเป็นว่าก็ขอให้สนุกกับการนั่งรถไฟในประเทศญี่ปุ่นนะครับ หลายๆคนอาจจะติดใจไปเลยจนอยากให้บ้านเราพัฒนารถไฟให้เจริญก้าวหน้าในเร็ววันนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยครับ! ทั้งนี้หากผู้อ่านท่านใดยังไม่มั่นใจหรืออยากถามข้อมูลเพิ่มเติมก็ add เพื่อนใน facebook มาได้ครับ ชื่อ Otaru Taichou พิมพ์ค้นหามาเลยครับ เจอแน่นอน สำหรับบล็อกต่อไปก็จะผลิตออกมาให้เนื้อหาอัดแน่นเช่นเคยครับ!

ที่มาของภาพ  http://www.japantimes.co.jp/news/2013/10/03/business/corporate-business/jr-kyushu-raising-rate-for-seven-stars-train/

http://www.cruisetrain-sevenstars.jp/en/train_info.html

http://melissadreamsofsushi.com/wp-content/uploads/2013/02/chikatetsu2.jpg

http://howibecametexan.com/wp-content/uploads/2013/06/img_9471.jpg

http://www.justonecookbook.com/wp-content/uploads/2014/08/Visiting-Kyoto-Shin-Yokohama-Sta.jpg

https://farm8.staticflickr.com/7284/16923396632_3c896dbcfe_c.jpg

http://4.bp.blogspot.com/-K5VmNp-ZL7c/VRiZPZsXgeI/AAAAAAAAMjg/atge4f7I9AQ/s1600/photo(74).jpg

http://firstroundgrade.com/wp-content/uploads/2013/12/where-to-go-from-here.png

http://www.japan-guide.com/g4/2019_1503.gif

http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/03058/Japan-Bullet-Train_3058187b.jpg

 

ติดตามรับข่าวสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น

YouTube: www.youtube.com/ilovejapanth/

Facebook: www.facebook.com/ILoveJapan.th/

Twitter: https://twitter.com/ILOVEJAPANTH

Instagram: www.instagram.com/ilovejapanth/

TikTok: https://www.tiktok.com/@ilovejapanth

ทดลองเรียนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ฟรี 3 วันได้ที่ www.ilovejapanschool.com

บทความล่าสุด