t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

แนะนำวิธีการกรอกใบ ตม. และใบศุลกากรเข้าประเทศญี่ปุ่นให้ราบรื่น

แนะนำวิธีการกรอกใบ ตม. และใบศุลกากรเข้าประเทศญี่ปุ่นให้ราบรื่น

By , Friday, 16 August 2019

​สัปดาห์นี้โอทารุจะขอเขียนบล็อกสั้น ๆ แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ เป็นอย่างมากครับ เพราะในบล็อกผมจะมาแนะนำวิธีการกรอกใบ ตม. ขาเข้าประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งใบศุลกากรให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้การผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองและการตรวจกระเป๋ามีความรวดเร็วมากที่สุด เพื่อน ๆ จะได้รีบไปต่อรถไฟ/แลกพาส/เดินทางไปจุดหมายอื่น ๆ ต่อหลังจากทึ่ทุกคนออกจากสนามบินได้ไงล่ะครับ เชิญอ่านกันได้เลยคร้าบบบบ

​ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าในฐานะที่เราเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เวลาเราเดินทางไปที่ญี่ปุ่นขาออกจากประเทศไทยเราต้องกรอกข้อมูลเพื่อเข้าประเทศกันก่อน โดยระหว่างที่เราเดินทางก็จะได้รับกระดาษอ่อน ๆ จำนวน 2 ใบจากเจ้าหน้าที่บนเครื่องบิน (แต่ใครมากับบริษัททัวร์ก็ง่ายหน่อย ส่วนใหญ่เขาจะกรอกให้ทุกคนแล้ว ลูกทัวร์มีหน้าที่เซ็นอย่างเดียว) ซึ่งกระดาษทั้ง 2 ใบที่ผมว่านั้น ใบหนึ่งก็คือ ใบตรวจคนเข้าเมือง และอีกใบหนึ่งก็คือ ใบศุลกากร นั่นเองครับ! 

​ก่อนอื่นเรามาเริ่มที่ใบตรวจคนเข้าเมืองกันก่อนนะครับ ใบนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยล่ะ แม้ใบ ตม. (ขอเรียกสั้น ๆ ละนะ) จะมีการกำกับภาษาทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ จีนกลาง แต่ก็ยังมีการกรอกผิด ๆ ถูก ๆ เสมอ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็จะเชิญนักท่องเที่ยวอย่างเราให้กรอกใหม่หรือกรอกเพิ่มก็มีเหมือนกันครับ ดังนั้น ผมจึงอยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลในการกรอกสักหน่อยนะครับ เอาล่ะ เริ่ม!

ใบตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น มีชื่อเต็มว่า Disembarkation Card for Foreigner นะครับ ไล่ดูตามตัวเลขในภาพด้านบนได้เลย

1. Family Name - ให้ใส่ "นามสกุล" ของตัวเอง

2. Given Names- ใส่ "ชื่อจริง" ของตัวเองครับ 

สองหัวข้อนี้บางคนมักจะกรอกสลับกันด้วยความเคยชินเนื่องจากประเทศไทยใช้ชื่อชื่อจริงขึ้นก่อนแล้วค่อยใช้นามสกุล แต่การกรอกของญี่ปุ่นนามสกุลมาก่อนครับ

3. Date of birth - ก็คือ "วันเกิด" ครับ เวลาใส่ให้ใส่เป็น วัน/เดือน/ปี --> แต่ปีที่เกิดกรุณาใส่เป็นคริสตศักราช (ค.ศ.) นะครับ ทราบมาว่า มีนักท่องเที่ยวไทยบางท่านใส่ "พุทธศักราช" ลงไปด้วย ซึ่งขอบอกก่อนว่า ผิดนะครับ ระวังเจ้าหน้าที่จะให้แก้

4. Country name - ประเทศที่คุณอาศัยอยู่ --> ง่าย ๆ ครับ คุณถือพาสปอร์ตอะไร คุณกรอกประเทศนั้น ถือพาสปอร์ตไทยก็ใส่ Thailand ใครถือพาสปอร์ตอเมริกา ก็ใส่ USA ไป แค่นั้นแหละ

5. City name - เมืองที่คุณอาศัยอยู่ --> หลักการเหมือนข้อ 4 ครับ เช่น บ้านอยู่กรุงเทพฯ ก็กรอก Bangkok, บ้านอยู่เชียงใหม่ กรอก Chiang Mai, ใครอยู่อเมริกา กรอกเมืองไป เช่น Los Angeles

6. Purpose of visit - จุดประสงค์ในการเข้าประเทศญี่ปุ่น ต้องเลือกติ๊กในช่องสี่เหลี่ยม ดังนี้

6.1 Tourism : ใครมาเที่ยว/มาพักผ่อน/หาแฟน/เยี่ยมกิ๊ก ติ๊กช่องนี้

6.2 Business : ใครมาติดต่อธุรกิจ/บริษัทคู่ค้า ติ๊กช่องนี้ --> กรณีที่มาร่วมงานส่งเสริมการขาย เช่น Thai Festival สามารถเลือกติ๊กข้อนี้ได้ครับ เจ้าหน้าที่อาจจะถามว่า "มางานอะไร" ถ้าใครมีเอกสารเข้าร่วมงานก็โชว์ให้ดูเลย ไม่มีปัญหา ผมก็เคยติ๊กครับ

6.3 Visiting relatives : ใครมาเยี่ยมญาติ ติ๊กช่องนี้

6.4 Others : อื่น ๆ นอกจากสามข้อที่ว่า

ปกติแล้ว ช่อง Visiting relatives อาจจะมีคำถามจากเจ้าหน้าที่ว่า ญาติฝ่ายไหน เป็นใคร อยู่ญี่ปุ่นนานแล้วหรือยัง มีเบอร์ติดต่อไหม --> ถ้าคุณไม่มีเบอร์ติดต่อ เจ้าหน้าที่ก็สงสัยแน่นอนครับ "เป็นญาติภาษาอะไรไม่มีเบอร์โทรศัพท์" แต่ถ้าคุณให้เบอร์โทรศัพท์ไป เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์โทรไปที่ปลายสายแล้วถามว่ารู้จักคนที่ให้เบอร์นี้ไหม แล้วก็ถามคำถามทั่วไปที่เกี่ยวกับคนที่กำลังตรวจ.......ถ้าเป็นญาติกันจริง ๆ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นพวกแอบอ้างแล้วปลายสายปฏิเสธว่าไม่รู้จักก็เตรียมตัว "เข้าห้องเย็น" นะ คุณเข้าข่ายโกหกเจ้าหน้าที่และส่อว่าจะเข้าเมืองผิดกฎหมายแล้วครับ

7. Last flight No./Vessel - เที่ยวบินล่าสุดที่ใช้/เรือที่ใช้ ง่าย ๆ ก็คือ กรอกหมายเลขเที่ยวบินที่คุณเพิ่งลงมานั่นแหละ เช่น ใช้การบินไทยจากสุวรรณภูมิ ก็เขียนไปว่า TG ุ672 หรือแอร์เอเชียเอ็กซ์ก็กรอก XJ 601 ฯลฯ  ส่วนกรณีที่เป็นการต่อเครื่องมาจากประเทศที่สอง เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย ให้กรอกเที่ยวบินขาล่าสุดที่คุณเพิ่งเปลี่ยนครับ "ไม่ต้องกรอกไฟลท์จากไทย" เข้าใจนะ และกรณีที่ชาวไทยยังไม่นิยมคือ นั่งเรือมาจากปูซาน (เกาหลีใต้) ก็กรอกชื่อเรือครับ

8. intended length of stay in Japan - คือ จำนวนวันที่คุณต้องการจะอยู่ในญี่ปุ่น --> ปัจจุบันนี้ชาวไทยที่ถือพาสปอร์ตสามารถเข้าญี่ปุ่นและท่องเที่ยวได้ในระยะเวลา 15 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่าครับ ใครอยู่ไม่เกิน 15 วันก็เขียนจำนวนวันที่จะอยู่เที่ยวไป แต่ใครที่จะอยู่เกินก็ต้องไปทำวีซ่าตามประเภทที่ตนจะเข้าไป เช่น เที่ยวเป็นหลักเดือน ทำงาน นักเรียน อันนี้ก็ต้องมีวีซ่าให้เรียบร้อยก่อนนะครับ

9. Intended address in Japan - ที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่น --> ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นโรงแรมหรืออพาร์ทเมนท์ครับ ก็กรอกชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ให้เรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันที่พักเหล่านี้จะมีระบุเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เราก็กรอกตามได้ อย่างไรก็ตามขอเตือนว่า "อย่าขี้เกียจ" คือ ใครที่เป็นประเภทนอนโรงแรมที่มีเครือหรือสาขาเยอะ ๆ ทั่วญี่ปุ่น เช่น Toyoko Inn, Hotel mystay, APA Hotel ฯลฯ กรุณากรอกสาขาและที่อยู่ให้เรียบร้อยด้วย ถ้ากรอกแค่ชื่อโรงแรมแต่ไม่กรอกสาขาที่ตัวเองจะไปพัก "เจ้าหน้าที่จะให้คุณกลับมากรอกสาขาที่คุณจะไปพักอยู่ดีนะครับ" ขอเตือนก่อน คนในเพจท่องเที่ยวโดนมาแล้วหลายคน ดังนั้น ใส่ให้ครบตั้งแต่แรกครับ จะได้ไม่เสียเวลากลับมาเขียนใหม่ 

*กรณียอดฮิตที่ชาวไทยหลายคนกรอกแล้วเจ้าหน้าที่ชอบสงสัยก็คือ "ใส่ที่อยู่บ้านเพื่อน/แฟนคนญี่ปุ่น" หมายถึง เจ้าหน้าที่อาจจะโทรไปสอบถามครับ ใครมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่นก็ตกลงกันก่อนว่าจะมาวันไหนเมื่อไหร่ ถ้าเจ้าหน้าที่ ตม.สงสัยก็เชิญโทรไปหาได้ ประมาณนั้นครับ ส่วนบ้านเพื่อนก็บอกเพื่อนด้วยว่า กรูจะไปนอนช่วงนี้ช่วงนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่โทรมาก็รับโทรศัพท์ด้วย เดี๋ยวงานเข้า! 

​10. หมวดนี้จะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมหรือการพกพาวัตถุต้องสงสัยเข้าประเทศ โดยถ้าคุณมีประวัติอาชญากรรมหรือพกวัตถุต้องสงสัยเข้ามา ต้องติ๊กนะครับ 555 (แม้จะรู้ว่า ใครมันจะไปอยากติ๊กถูกไหม) บอกตรง ๆ ว่า ถ้าคุณบอกไม่มี ไม่เคยทำความผิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่คีย์ชื่อคุณ ข้อมูลมันก็ฟ้องบนหน้าจอแล้วครับ ทีนี้จะโดนหนักกว่าเดิม ก็อย่าหาว่าผมไม่เตือนละกัน สำหรับคำถามสามข้อบนแผ่นกระดาษมีดังนี้

10.1 คุณเคยมีประวัติถูกปฏิเสธการเข้าประเทศญี่ปุ่นหรือเคยถูกส่งกลับประเทศภูมิลำเนาหรือไม่ 

10,2 คุณเคยมีประวัติการก่ออาชญากรรมที่ไหนมาก่อนหรือไม่ (นับหมดทั่วโลกนะครับ ไม่ใช่นับแค่ญี่ปุ่น)

10.3 คุณครอบครองวัตถุอันตราย, อาวุธปืน, อาวุธมีคม หรือกระสุนปืนหรือไม่

หากข้อไหนตรงกับคุณ ติ๊กช่อง Yes ถ้าไม่มีเลยก็ติ๊กช่อง No แค่นั้นแหละ

11. Signature - ก็เซ็นลายเซ็นตัวเอง "ที่เป็นแบบเดียวกับพาสปอร์ต" นะครับ ผมทราบว่าบางคนลายเซ็นในพาสปอร์ตกับเวลาเซ็นเอกสารในเมืองไทยจะใช้ต่างกัน  เคสง่ายๆ คือ เซ็นชื่อภาษาไทยเวลาทำธุรกรรมในบ้านเรา แต่ตอนไปทำพาสปอร์ตกลับเซ็นเป็นภาษาอังกฤษ จุดนี้ก็ต้องระวังครับ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะงง!

สำหรับใบตรวจคนเข้าเมืองก็มีเท่านี้แหละครับ ส่วนด้านหลังเป็นของเจ้าหน้าที่ใช้ เราไม่ต้องไปยุ่งครับ ต่อไปเป็นใบศุลกากรนะครับ!

ใบนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Customs Declaration form ส่วนใหญ่คำถามก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกครับ พวกแนว ๆ ถามว่าเอาเงินมาเท่าไหร่ มีสิ่งแปลกปลอมติดมาด้วยไหม มากันกี่คน เอาล่ะ มาดูคำแปลกันครับ

1. Flight No./Name of Vessel​ - ช่องแรกกรอกเที่ยวบินแบบเดียวกับใบ ตม. ส่วน point of embarkation คือ ประเทศสุดท้ายก่อนเข้าญี่ปุ่นครับ --> ถ้าบินตรงมาจากกรุงเทพฯ ใส่ Bangkok ถ้าต่อเครื่องจากประเทศอื่น ๆ ก็ใส่ประเทศหรือเมือง เช่น Singapore, Hong Kong, Hanoi เป็นต้น

2. Date of Arrival in Japan - วันที่มาถึงญี่ปุ่น กรอกวันที่เดินทางถึงครับ แต่ใบศุลกากรให้กรอก ปี/เดือน/วัน นะครับ! ส่วนปี ขอย้ำว่า "ให้กรอกเป็น ค.ศ." เหมือนใบ ตม.

3. Address in Japan - แบบเดียวกับที่อยู่ตามข้อ 8 ของใบ ตม. เลยครับ

4. Nationality - สัญชาติ

5. Occupation - อาชีพ --> คำนี้ค่อนข้างมีปัญหากับชาวไทยที่กรอกเอกสารราชการว่ามีอาชีพ "รับจ้าง" เพราะเวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษอาจจะแปลไม่ตรงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเอากลาง ๆ ใส่ employee ไปก็ได้ครับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ได้ให้ความสนใจสักเท่าไหร่

6. Date of birth - วันเกิดครับ การกรอกก็เหมือนกับวันที่มาถึงญี่ปุ่น คือเรียงแบบ ปี/เดือน/วัน

7. Passport No. - ใส่หมายเลขพาสปอร์ตของตัวเองครับ

8. Number of Family members traveling with you - จำนวนผู้ที่เดินทางมาพร้อมกับคุณ จะมีแยกถามมาสามประเภทคือ อายุ 20 ปีขึ้นไปมากันกี่คน อายุ 6-19 ปีมากี่คน และอายุต่ำกว่า 6 ปีมากี่่คน

อันนี้ผมบอกก่อนว่า ใบศุลกากรนี้ "1 ครอบครัวใช้ใบเดียวได้" รับรองครับ ผมใช้มาหลายครั้งละ แต่คนที่ใช้ควรเป็นนามสกุลเดียวกันนะครับ ส่วนจำนวนนั้นง่าย ๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น เรามากัน 3 คนพ่อแม่ลูก ช่องที่ถามอายุ 20+ ให้ใส่เลข 2 ไป แล้วก็ยื่นให้เจ้าหน้าที่ได้เลยครับ เพราะคำว่า traveling with you คือ มันถามอยู่แล้วว่านอกจากคุณแล้วมีใครเดินทางมาด้วยกันบ้าง

*กรณีมากับเพื่อนเป็นแกงค์ ส่วนตัวผมแนะนำว่า "แยกกันตรวจเถอะ" เพราะนามสกุลไม่ตรงกัน แม้จะสนิทกันแต่ก็กันไว้ก่อนครับ แต่ใครที่ชอบหาเพื่อนใหม่หรือเพิ่งรู้จักกันไม่นาน ผมบอกตรง ๆ ว่า "ควรแยกกันอย่างยิ่ง" ใครจะไปรู้ครับว่าเพื่อนคนนั้น "ขนอะไรมา" นี่ไม่ได้โลกสวยนะ แต่มันเคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นมากมายในต่างประเทศและออกทีวีหลายครั้งแล้ว ล่าสุดก็มีข่าวจับชาวไทยที่ลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศญี่ปุ่นที่สนามบินคันไซโดยผู้กระทำผิดได้ยอมจ่ายเงินทำทีแฝงมาเป็นลูกทัวร์ของบริษัททัวร์ด้วยล่ะ งามหน้าไปทั่วประเทศกันเลยครับ แถมไกด์บริษัทที่พามาก็โดนหางเลข+โดนสอบสวนกันไปด้วย...วุ่นวายกันไปหมดละงานนี้!

สำหรับช่วงครึ่งล่างของใบศุลกากรจะเป็นชุดคำถามให้เราติ๊ก (ซึ่งปกติก็ No กันอยู่แล้วล่ะ) แต่ผมก็เอามาแปลให้ทราบกันด้วย ดังนี้

9. คุณนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นหรือไม่

9.1 สิ่งของต้องห้าม เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน ระเบิด

9.2 ของที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่มีปริมาณมาก

9.3 สินค้าสำหรับการขายที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าตัวอย่าง

9.4 สิ่งของใด ๆ ก็ตามที่คุณได้รับการร้องขอให้นำเข้ามาในญี่ปุ่นด้วย

*หากใครเข้าข่ายข้อใดก็ตามหรือทุกข้อ ต้องติ๊ก Yes นะครับ 

10. คุณได้นำเงินสด/traveler cheque/ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่มีค่าเงินมากกว่าหรือเท่ากับ 1,000,000 เยน (หนึ่งล้านเยน) หรือ ทองคำแท่งที่มีน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม เข้ามาในญี่ปุ่นหรือไม่

*เมื่อปีก่อนสนามบินคันไซได้จับแกงค์ชาวเกาหลีใต้ที่แอบลักลอบขนทองคำเข้ามาเยอะมาก (เพราะทองในญี่ปุ่นขายแพงกว่า) ทั้งแอบมาในเสื้อชั้นใน ยัดในรองเท้า ทำเป็นไม้แขวนเสื้อก็มี ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะเข้มงวดเป็นพิเศษกับเรื่องทอง ดังนั้น "ใครที่ชอบเป็นเสี่ยเป็นคุณนาย ใส่สร้อยทองเส้นเท่าโซ่คล้องเรือเฟอร์รีก็ระวังตัวไว้นะครับหรือเป็น Lord of the gold มีทั้งกำไล ทั้งแหวน เต็มมือ เต็มแขน เต็มคอนี่ก็เหมือนกัน ผมว่าห้ามใจแล้วเก็บเข้าตู้เซฟไว้ที่ไทยก่อนมาเที่ยวจะดีกว่า" ถ้าโดนศุลกากรริบขึ้นมาก็ไม่มีใครช่วยคุณได้นะครับ

11. คุณมีสิ่งของที่แปลกปลอมติตตัวมาด้วยหรือเปล่า 

*สิ่งของแปลกปลอมตีความได้กว้างมาก ถ้าสรุปเข้าใจง่ายแบบบ้านก็คือ "ของที่คนแปลกหน้าฝากมานั่นแหละ" 

ถ้าคุณมีก็ติ๊ก Yes นะครับ (แต่ใครมันจะติ๊กล่ะ)

ในใบศุลกากรยังระบุด้วยว่า หากผู้ใดที่ไม่สำแดงสินค้าหรือวัตถุต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนหรือจงใจไม่สำแดงสิ่งของก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของญี่ปุ่นนะครับ!!!

12. Signature ก็เซ็นชื่อแบบเดียวกับใบ ตม. ได้เลยครับ

สำหรับด้านหลังจะเป็นรายการที่ให้แสดงสิ่งของต้องห้ามหรือของที่ต้องสำแดงครับ คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เอาเป็นว่าผมขอสรุปสิ่งของที่ศุลกากรญี่ปุ่น "ห้ามนำเข้า" ไว้ให้ทราบเป็นข้อมูลก็แล้วกันครับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ผมนำมาจากเว็บไซต์ศุลกากรประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น "จะบอกว่าข้อมูลนี้ผมไม่ได้คิดเองเออเองนะครับ" 

สิ่งของต้องห้ามที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าประเทศญี่ปุ่น

1. ยาเสพติดทุกชนิด (ยกเว้นชนิดที่ได้รับการยกเว้นและมีประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมของประเทศญี่ปุ่น)

2. อาวุธปืน เช่น ปืนพก ปืนไรเฟิล รวมถึงกระสุนปืนและส่วนประกอบของปืนด้วย ดาบที่มีความยาวของคมดาบตั้งแต่ 55 เซนติเมตรขึ้นไป

3. วัตถุระเบิด เช่น ดินปืน ไดนาไมต์

4. สารตั้งต้นของอาวุธทางเคมี

5. เชื้อโรคที่อาจนำมาใช้ในการก่อการร้ายทางชีวภาพ (bio-terrorism)

6. ธนบัตรปลอม เหรียญกษาปณ์ปลอมหรือเหรียญที่ลอกเลียนแบบ รวมทั้งเครดิตการ์ดที่ปลอมแปลงขึ้นมา

7. หนังสือ ภาพวาด หรืองานแกะสลักที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมหรือบั่นทอนสังคม เช่น วัตถุลามกอนาจาร สื่อลามกที่เกี่ยวกับเยาวชน (Child Pornography)

8. สิ่งของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนมปลอม รวมทั้งแผ่น CD,DVD หนังหรือเพลงเถื่อนด้วย

9. ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเนื้อสัตว์

9.1 เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้ง หมู ไก่ แกะ แพะ กวาง วัว ห่าน นกกระจอกเทศ ไก่งวง เป็ด ห่าน รวมถึงอาหารที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์เหล่านี้ เช่น ซาลามี่ โบโลน่า เนื้อสับ (เนื้อที่อยู่ในแฮมเบอร์เกอร์น่ะครับ) รวมไปถึงเครื่องในสัตว์อย่างไส้ กระเพาะอาหาร

9.2 ไข่จากสัตว์รวมทั้งไข่ที่มาทั้งเปลือกด้วย

9.3 กระดูก ไขมันสัตว์ เลือด ขน เขา ของสัตว์ต่าง ๆ ตามข้อด้านบน ยกเว้นเครื่องนุ่งห่มจากสัตว์ เช่น เสื้อสเวตเตอร์ กระเป๋าสะพาย ฯลฯ

9.4 นมดิบ, น้ำเชื้อของสัตว์, ไข่ที่ปฏิสนธิและยังไม่ปฏิสนธิ, อุจจาระ, ปัสสาวะของสัตว์ 

9.5 ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัมและมีเจตนานำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อการพาณิชย์หรือแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ

10. ผลไม้/พืขต้องห้าม เช่น มะม่วง พริก มังคุด ฝรั่ง ลิ้นจี่ รวมทั้งผลไม้รสเปรี้ยว แอปเปิล ลูกแพร์ ลูกพีช มันเทศ ฟางข้าว

ส่วนตัวผมคิดว่า ข้อ 9 น่าจะเป็นปัญหาสำหรับชาวไทยมากที่สุด เพราะอาหารไทยหลายอย่างก็มีการแปรรูป เช่น กุนเชียง แฮม โบโลน่าพริก หมูหยอง น้ำพริก (นี่ยอดฮิตเลย) ผลไม้บางอย่างก็อยากหิ้วไปเผื่อเอาไปฝากเพื่อน ๆ ญาติ ๆ ที่ญี่ปุ่นก็มี เช่น มะม่วงงี้ มังคุดงี้ (ทำยำมะม่วงนี่แซ่บอีหลี 555) คือ ของเหล่านี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจเจอก็จะทำการยึดครับ ส่วนกรณีที่ร้ายแรงมาก ๆ ก็จะถูกปรับเงินด้วยนะครับ ดังนั้น ไม่น่าจะคุ้มเสี่ยงสำหรับเพื่อน ๆ ที่จะมาเที่ยวจริง ๆ ครับ


และทั้งหมดนี้ก็คือ ข้อแนะนำที่โอทารุเขียนแนะนำเพื่อน ๆ ในบล็อกนี้ครับ ก็หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนกรอกข้อมูลในใบทั้งสองได้อย่างสะดวกนะครับ จะได้ผ่านด่านได้รวดเร็วและไปเที่ยวได้ตามแพลนที่ตั้งใจไว้กันทุกคนนะครับ ส่วนใครที่คิดจะใช้คำแนะนำนี้ในการลักลอบเข้าเมืองหรือไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ผมก็ขออวยพรให้นะครับว่า "ขอให้ถูกจับตั้งแต่อยู่สนามบินแล้วถูก blacklist ยาว ๆ นะครับ ^^" แค่นี้ภาพลักษณ์นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว.....ฝากไว้เท่านี้ แล้วพบกันใหม่ในบล็อกหน้า สวัสดีครับ!

 ภาพปกจาก gssjaingurukul

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก livejapan

ภาพใบตม. และใบศุลกากรเป็นของโอทารุเองครับ ใครจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์กรุณาขออนุญาตก่อนนะครับ

ภาพประกอบจาก independent

บทความล่าสุด