t ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

ไปญี่ปุ่น ใช้เงินสด หรือ บัตรเครดิต ดีกว่ากันนะ

ไปญี่ปุ่น ใช้เงินสด หรือ บัตรเครดิต ดีกว่ากันนะ

By , Sunday, 04 March 2018

สวัสดีค่ะ รอบนี้มาว่ากันด้วยเรื่องเงินๆทองๆกันดีกว่า ทรายว่าหลายคนพอจะรู้ตัวว่าจะไปญี่ปุ่น หนึ่งสิ่งสำคัญในการเตรียมตัวเที่ยวก็คือ เงิน นั่นเอง

หลายคนมักมีคำถามว่า ระหว่างใช้เงินสด กับ ใช้บัตรเครดิต อันไหนมันจะดีกว่ากันนะ มาค่ะ! วันนี้เรามาดูกันว่า ระหว่างการใช้เงินสด กับ เจ้าบัตรเครดิต มีข้อดี/ข้อเสีย/ข้อควรรู้อะไรบ้าง เผื่อว่าทริปรอบหน้าเรื่องเหล่านี้จะได้ไม่เป็นเรื่องชวนปวดหัวอีกต่อไป. (●´ω`●)


​เงินสด


ข้อดีที่สุดของ เงินสด คือ ความคล่องตัวค่ะ หมุนเวียน เปลี่ยนมือ ง่าย สะดวก

ข้อเสีย คือ ความปลอดภัยในการพกเงินสดค่ะ หากบางคนไปเที่ยวแล้วจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากไปกันหลายคนบ้าง กะจะไปช็อปปิงบ้าง หรือแม้กระทั่งต้องสำรองเงินไว้สำหรับเป็นค่าเดินทางระหว่างท่องเที่ยวด้วย การพกเงินไปเที่ยวครั้งละมากๆ ก็เห็นจะไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ใช่ไหมคะ 



ในส่วนของการแลกเงิน บางคนก็คอยเฝ้าดูอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินประจำวัน ใครเป็นนักเก็งราคาค่าเงินอยู่แล้ว ก็อาจสบายหน่อย เพราะติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับคนที่ปกติไม่ค่อยได้ยุ่งวุ่นวายกับเรื่องค่าเงินเท่าไหร่ แต่พอจะไปเที่ยวมันจะไม่ยุ่งก็ไม่ได้ พอจะไปแลกเงิน ใจนึงก็กลัวว่าจะได้อัตราแลกเปลี่ยนไม่ดี แลกได้น้อย พอหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เค้าบอกว่าเงินจะลง ก็กล้าๆกลัวๆ จะแลกดี ไม่แลกดี สุดท้าย บางคนก็ใช้วิธีทยอยแลก อย่างน้อย แม้ไม่ได้อัตราแลกเปลี่ยนต่ำสุด ยังไงมันก็ไม่ใช่สูงสุดแน่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทยอยแลกได้ใช่ไหมล่ะคะ พอช่วงไหนค่าเงินดีๆ อยากจะแลกใจแทบขาดแต่เงินช่วงนั้นขาดกระเป๋าพอดิบพอดี ก็ทำได้แค่นั่งมองตัวเลขตาปริบๆ พอช่วงมีเงินจะแลกกับเค้า เอ้าค่าเงินขึ้นซะแล้ว (◠﹏◠✿)

ปกติก่อนเดินทาง ถ้าทรายรู้วันที่เดินทางแน่นอนแล้ว ทรายมักจะเข้าเว็บไซต์เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนดูอยู่เรื่อยๆค่ะ เว็บที่อยากแนะนำคือ http://www.bahtcheck.com/ และ

http://th.jpy-thb.com/thaniya-spirit/ ข้อดีของเว็บไซต์บาทเช็ก คือ สามารถดูอัตราแลกเปลี่ยนได้ทั้งของธนาคารและของร้านแลกเงินเจ้าดัง ส่วนอีกเว็บไซต์นี้สำหรับของร้านธนิยะโดยเฉพาะเลย เอาไว้เทียบกันเพราะส่วนใหญ่ร้านธนิยะมักจะได้อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างดีกว่าค่ะ 



จบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นี่ยังไม่นับรวมปัญหาแลกเงินไม่ทันอีกนะคะ ( ;´Д`)เพราะระหว่างเตรียมตัวนู่น นึ่ นั่น เผลอแป็บเดียว เอ้ยยย! จะวันเดินทางแล้ว เงินยังไม่ได้แลกหรืออยากแลกเพิ่มก็ยังไม่ได้แลกเลย หากกะว่าจะไปแลกที่ธนาคารใกล้ๆแบบไม่สนใจค่าเงินก็ใช่ว่าทุกสาขา/ทุกธนาคารจะมีเงินสดสกุลเงินเยนสำรองพร้อมให้แลกได้ครบตามต้องการ และถึงแม้ว่าในสนามบินตอนนี้จะมีบริษัทรับแลกเงินไปเปิดให้บริการมากขึ้น หากไปถึงสนามบินแบบเฉียดฉิว มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนทำให้ไม่สามารถไปแลกเงินได้ตามต้องการ ก็พลาดอยู่ดี 

ถ้าเหตุการณ์การแลกเงินสดไม่ราบรื่น เป็นอย่างที่หวังไว้ ทางออกต่อไปคือ การใช้บัตรเครดิต รูดไปซะเลย สะดวกสบายสุดๆ 

บัตรเครดิต

​สำหรับการใช้บัตรเครดิตไทย ในญี่ปุ่น บัตรที่ออกโดยธนาคารไทย ทุกธนาคารสามารถนำไปใช้ได้เหมือนกันหมด ส่วนที่จะแตกต่างกันก็คือ แบรนด์ของบัตร VISA, MASTERCARD หรือจะเป็น JCB (3 แบรนด์ใหญ่ๆของบัตรเครดิตธนาคารไทย)



ทั้ง 3 แบรนด์เป็นบริษัททางการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิตร่วมกับธนาคารต่างๆ โดย VISA และ Mastercard เป็นสัญชาติอเมริกัน ส่วน JCB นี่เชื้อสายญี่ปุ่นโดยแท้ทรูค่ะ และไม่ว่าบัตรเครดิตที่ถืออยู่จะเป็นของธนาคารใด สัญชาติใดก็ตาม ทรายมีข้อแนะนำ และข้อควรระวังในการใช้บัตรที่ญี่ปุ่น ดังนี้ค่ะ


แจ้งธนาคารทุกครั้ง

ถึงแม้จะไม่ใช่ข้อบังคับของธนาคาร แต่ว่าการแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตของเรารู้ล่วงหน้าว่า เฮ้ นี่ฉันจะไปกิน เที่ยว เปรี้ยว ที่ญี่ปุ่นนะเจ้าคะ เป็นการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตรไปใช้ได้นะคะ เพราะทางธนาคารจะได้มีบันทึกว่าระหว่างวันนี้ ถึง วันนี้ เจ้าของบัตรอยู่ญี่ปุ่นนะ ถ้ามีการใช้บัตรจากญี่ปุ่นช่วงเวลานี้ คือเรื่องปกติ แต่ถ้าหากมียอดเรียกเก็บ รายการใช้บัตรนอกช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารจะช่วยแจ้งข่าวให้เรารู้ว่า นี่ๆ มีรายการที่น่าสงสัยเข้ามา ใช่เราจริงๆไหม หรือ อยากจะระงับบัตรไหม อะไรก็ว่าไป

วิธีการแจ้งไม่ยุ่งยากค่ะ แค่โทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมระบุวันเดินทาง วันกลับไทย จบ ง่ายเวอร์ (แต่นานเวอร์เช่นกัน แต่ละแบงค์รอสายกันหูไหม้ เพราะฉะนั้นโทรล่วงหน้าหน่อยก็ดีนะคะ) \(●~▽~●)


อย่าลืมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน

การใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศทุกครั้ง จะมีค่าความเสี่ยงจากการเปลี่ยนสกุลเงินบวกเพิ่มเข้ามาด้วยทุกครั้ง โดยค่านี้ก็คือ ค่าที่ทางธนาคารเรียกเก็บเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอัตรแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินที่เราใช้รูด สกุลเงินบาท และสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ พูดง่ายๆคือ เมื่อเรารูดบัตรที่ญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินเยน 1 ครั้ง ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมจากการแปลงสกุลเงินจาก เยน เป็นดอลลาร์ แล้วเปลี่ยนอีกครั้งจากดอลลาร์มาเป็นเงินบาท ที่เราจะได้เห็นเลขน่าตื่นเต้นจากบิลที่เรียกเก็บมาตอนสิ้นเดือนนั่นล่ะค่ะ



และแต่ละธนาคาร แต่ละบัตรเครดิตจะคิดเจ้าค่านี้แตกต่างกันไปค่ะ แต่ส่วนมากแล้วจะอยู่ที่ 2% - 2.5% หรือถ้าเจอช่วงโปรโมชันของบัตรเครดิตเข้า ค่านี้อาจจะลดเหลือแค่ 1% เท่านั้นค่ะ แล้วจะรู้ได้ไงนะว่าแต่ละบัตรมีค่าความเสี่ยงเท่าไหร่กันบ้าง ทรายขอรวบรวมมาให้คร่าวๆในส่วนของแบงค์ใหญ่ในไทยตามตารางนี้ได้เลยค่ะ


​ธนาคาร ​ค่าความเสี่ยงจากาการแปลงสกุลเงิน
​กรุงไทย  KTC ​ไม่เกิน 2.0%
​กรุงเทพ ​ไม่เกิน 2.5%
​กรุงศรี​​ไม่เกิน 2.5%
​กสิกร​​ไม่เกิน 2.5%
​ไทยพาณิชย์​​ไม่เกิน 2.5%
​ซิตี้แบงค์​​ไม่เกิน 2.5%

เช็กอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบทุกครั้ง

บัตรแต่ละแบรนด์จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนจะใช้ ถ้ามีอินเทอร์เน็ต แนะนำให้หยิบมือถือขึ้นมาเช็กเรตประจำวันเทียบกันหน่อยก็ดี ถูกกว่าสักสตางค์ สองสตางค์ สายเปย์อย่างทรายก็เอาค่ะ ทรายเอาลิงก์มาแปะไว้ให้ ใครใช้บัตรของอะไรก็กดลิงก์เข้าไปดูได้เลยนะ


ข้อควรระวัง ต้องขอเตือนไว้ก่อนนะคะว่า ถึงแม้เราจะสามารถดูอัตราแลกเปลี่ยนได้ รู้ค่าความเสี่ยงของการแปลงสกุลเงินแล้วก็ตาม แต่เมื่อเวลาที่ใบเสร็จออกมาตอนอยู่ไทย มันอาจไม่ได้ตัวเลขเป๊ะๆตามที่เราคำนวณไว้ นั่นเพราะ วันที่เรียกเก็บเงินของร้านค้าที่เราไม่สามารถรู้ได้นั่นเองค่ะ เพราะบางร้านค้าเค้าอาจมีการส่งยอดเรียกเก็บเงินกับธนาคารของเค้าวันละรอบ หรือวันละหลายรอบ มันเลยทำให้อัตราแลกเปลี่ยนคลาดเคลื่อนได้ แต่ก็ไม่ได้มากขนาดเห็นแล้วกรี๊ดแน่ๆค่ะ (ยกเว้น ค่าเงินจะเหวี่ยงห่างกันหลายสิบบาท อันนี้ ดวงใคร ดวงมัน เนอะ) (`・ω・´)



สุดท้าย ท้ายสุด ใครที่กำลังวางแผนการเงินสำหรับทริปญี่ปุ่นทริปถัดไป ขอให้วางแผนการเงินได้อย่างมีความสุขนะคะ ใช้เงินสดบ้าง บัตรเครดิตบ้าง (เพราะโปรโมชันบัตรเครดิตดีๆ มีเยอะเหลือเกิน) กลับมานอกจากสุขใจจากทริปแล้ว ก็ยังสามารถสุขใจกับเงินในกระเป๋าไว้สำหรับทริปต่อไป และต่อๆไป ได้แน่นอนค่าาา ヽ( ´ ∇ ` )ノ


ติดตามอ่านบล็อกย้อนหลังของทรายได้ . ​​​​​ที่นี่


ขอบคุณรูปภาพ

http://www.suvarnabhumiairport.com/en/33-suvarnabhumi-bank

https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/FX/Pages/Fxrate.aspx

http://jpy.fxexchangerate.com/thb-2018_02_14-exchange-rates-history.html

https://www.dealstreetasia.com/stories/mufg-spend-900m-acquisitions-us-asia-84025/

http://japan-magazine.jnto.go.jp/en/special_credit.html



บทความล่าสุด